ปณฺฑิต (บาลีวันละคำ 35)
ปณฺฑิต
อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ
แปลตามรากศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี”
“ปณฺฑิต” เอามาใช้ในภาษาไทยเขียนว่า บัณฑิต อ่านว่า บัน-ดิด
แต่เดิมเราอ่านคำนี้ว่า บัน-ทิด (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ท ทหาร)
สังคมไทยถือว่า “วัด” เป็นสถาบันที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี ผู้ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเมื่อลาสิกขาออกมา สังคมจึงนับถือว่าเป็น “บัน-ทิด”
ต่อมาเสียง “บัน” กร่อนหายไป เหลือแต่ “ทิด”
คำว่า “ทิด” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระมาจนทุกวันนี้ เช่น ทิดย้อย ทิดบุญ
“ทิด” มาจาก “บัน-ทิด” และ “บัน-ทิด” ก็คือ “บัณฑิต”
โปรดสังเกตว่า ผู้สําเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เราก็เรียกว่า “บัณฑิต” แสดงให้เห็นว่ามาจากพื้นฐานค่านิยมเดิมนั่นเอง
ต่างกันแต่ว่า บัณฑิตสมัยก่อน เน้นที่รู้จักผิดชอบชั่วดี
บัณฑิตสมัยนี้เน้นเฉพาะเรื่องวิชาการ
บาลีวันละคำ (35)
7 6 55
ห้องพระ
14-7-55