ปาทุกา – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,347)
ปาทุกา – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง คาถาที่ 358 มีข้อความดังนี้ –
…………..
ขคฺโค (จ) ฉตฺต’มุณฺหีสํ
ปาทุกา วาฬวีชนี
(อิเม กกุธภณฺฑานิ
ภวนฺติ ปญฺจ ราชุนํ)
(ราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ)
พระขรรค์, ฉัตร, อุณหีศ,
ฉลองพระบาท, วาฬวีชนี
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 110 อธิบายคำว่า “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” มีข้อความดังนี้ –
…………..
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน)
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ โดยพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน
…………..
“ปาทุกา” อ่านว่า ปา-ทุ-กา รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณุก ปัจจัย, ลบ ณ (ณุก > อุก), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ป-(ทฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ปทฺ > ปาท) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปทฺ + ณุก = ปทณุก > ปทุก > ปาทุก + อา = ปาทุกา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องดำเนินไป” (คือใช้สวมเดินไป) หมายถึง รองเท้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาทุกา” ว่า a shoe, slipper, clog (รองเท้า, รองเท้าแตะ, รองเท้าไม้)
นอกจาก “ปาทุกา” แล้ว บาลียังมีรูป “ปาทุ” อีกศัพท์หนึ่ง รากศัพท์เหมือน “ปาทุกา” ต่างกันที่ “ปาทุ” ลง ณุ ปัจจัย
: ปทฺ + ณุ = ปทณุ > ปทุ > ปาทุ
บาลี “ปาทุกา” สันสกฤตเป็น “ปาทุก” และ “ปาทุกา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ปาทุก : (คำนาม) ‘บาทุก,’ ผู้เดิรเท้าหรือไปด้วยเท้า; เกือก, เกือกแตะ; who goes on foot or with feet; a shoe, a slipper.
(2) ปาทุกา : (คำนาม) ‘บาทุกา,’ รองเท้า; a shoe.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “บาทุกา” และ “ปาทุกา” บอกไว้ดังนี้ –
(1) บาทุกา : (คำนาม) รองเท้า. (ป., ส. ปาทุกา).
(2) ปาทุกา : (คำแบบ) (คำนาม) รองเท้า, เขียงเท้า, เขียนเป็น บราทุกรา หรือ ปราทุกรา ก็มี. (ป., ส.).
“ปาทุกา” ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เรียกเป็น “ฉลองพระบาทเชิงงอน”
ขยายความ :
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 114 อธิบายคำว่า “ฉลองพระบาทเชิงงอน” มีข้อความดังนี้ –
…………..
ฉลองพระบาทเชิงงอน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร ประธานพระครูพราหมณ์เป็นผู้สวมถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รองเท้ายังเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ได้
: คนต่ำต้อยเพียงไรอย่าดูถูกกัน
#บาลีวันละคำ (4,347)
7-5-67
…………………………….
…………………………….