บาลีวันละคำ

อิสิคิลิ (บาลีวันละคำ 2,865)

อิสิคิลิ

ไม่ใช่ อิสิคิริ

อ่านตรงตัว อิ-สิ-คิ-ลิ

ประกอบด้วยคำว่า อิสิ + คิลิ

(๑) “อิสิ

รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย

: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)

(๒) “คิลิ

รากศัพท์มาจาก คิลฺ (ธาตุ = กลืนกิน) + อิ ปัจจัย

: คิลฺ + อิ = คิลิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กลืนกิน” หมายถึง ผู้กลืนหรือผู้กิน (swallower, an eater)

อิสิ + คิลิ = อิสิคิลิ แปลว่า “ผู้กลืนฤๅษี

อิสิคิลิ” เป็นชื่อภูเขาหนึ่งในห้าลูก ที่เรียกว่าเบญจคีรี ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ

เหตุที่ภูเขาลูกนี้ได้นามว่า “อิสิคิลิ” มีเรื่องบันทึกไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ขอยกมาเสนอเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ดังนี้

สำนวนพระไตรปิฎก :

…………..

ภูตปุพฺพํ  ภิกฺขเว  ปญฺจ  ปจฺเจกพุทฺธสตานิ  อิมสฺมึ  อิสิคิลิสฺมึ  ปพฺพเต  จิรนิวาสิโน  อเหสุํ.  เต  อิมํ  ปพฺพตํ  ปวิสนฺตา  ทิสฺสนฺติ  ปวิฏฺฐา  น  ทิสฺสนฺติ.  ตเมนํ  มนุสฺสา  ทิสฺวา  เอวมาหํสุ  อยํ  ปพฺพโต  อิเม  อิสี  คิลตีติ  อิสิคิลิ  อิสิคิลีเตฺวว  สมญฺญา  อุทปาทิ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า 500 องค์ ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มาช้านาน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเมื่อกำลังเข้าไปสู่ภูเขานี้คนมองเห็น แต่ท่านเข้าไปแล้วคนมองไม่เห็น มนุษย์ทั้งหลายเห็นเหตุดังนั้น จึงพูดกันอย่างนี้ว่า “ภูเขาลูกนี้ อิสี คิลติ (กลืนกินฤๅษี)” ชื่อว่า “อิสิคิลิ อิสิคิลิ” ดังนี้แลจึงได้เกิดขึ้น

ที่มา: อิสิคิลิสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 249

…………..

สำนวนอรรถกถา :

…………..

ปุพฺเพ  กิร  ปญฺจสตมตฺตา  ปจฺเจกสมฺพุทฺธา  กาสิโกสลาทีสุ  ชนปเทสุ  ปิณฺฑาย  จริตฺวา  ปจฺฉาภตฺตํ  ตสฺมึ  ปพฺพเต  สนฺนิปติตฺวา  สมาปตฺติยา  วีตินาเมนฺติ.  มนุสฺสา  เต  ปวิสนฺเตเยว  ปสฺสนฺติ  น  นิกฺขมนฺเต  ตโต  อาหํสุ  อยํ  ปพฺพโต  อิเม  อิสี  คิลตีติ.  ตทุปาทาย  ตสฺส  อิสิคิลิเตฺวว  สมญฺญา  อุทปาทิ. 

เล่ากันมาว่า แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ 500 องค์ เที่ยวไปบิณฑบาตในชนบททั้งหลายมีกาสีและโกสลเป็นต้น เวลาหลังภัตตาหารได้มาชุมนุมกันที่ภูเขานั้น ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยสมาบัติ มนุษย์ทั้งหลายเห็นแต่ตอนที่ท่านเข้าไป ไม่เห็นออก เหตุนั้นจึงพูดกันว่า “ภูเขาลูกนี้ อิสี คิลติ (กลืนกินฤๅษี)” อาศัยเหตุนี้ ภูเขานั้นจึงเกิดมีชื่อว่า “อิสิคิลิ” ดังนี้แล

ที่มา: สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) ภาค 1 หน้า 343

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำกำลังค้นเรื่องภูเขาห้าลูกนี้อยู่ ได้ลองเปิด google ดู พบว่า มีผู้สะกดชื่อนี้เป็น “อิสิคิริ” (-ริ ร เรือ) หลายแห่ง

น่าจะมีผู้เข้าใจไปว่า คำว่า “-คิลิ” ในชื่อนี้คือ “คิริ” หรือ “คีรี” ที่หมายถึงภูเขา

คำว่า “อิสิคิริ” ก็สามารถแปลได้เช่นกันว่า “ภูเขากลืนฤๅษี” ตามหลักไวยากรณ์ที่เรียกว่า “มัชเฌโลป” คือลบคำกลาง

“อิสิ” แปลว่า ฤๅษี

“คิริ” แปลว่า ภูเขา

“อิสิคิริ” ก็แปลว่า “ภูเขา (กลืน) ฤๅษี”

ขอเรียนให้ทราบว่า แม้ตามหลักไวยากรณ์จะแปลอย่างนี้ได้ แต่ชื่อภูเขาลูกนี้เป็น proper name จะสะกดตามที่นึกเอาเองไม่ได้ ต้องสะกดตามที่ “ที่มา” หรือตามเหตุผลที่เป็นมา ซึ่งในที่นี้ท่านแสดงไว้ชัดเจนว่า “คิลิ” ในคำนี้แปลว่า “ผู้กลืน” ไม่ใช่ “คิริ” หรือ คีรี ที่แปลว่า “ภูเขา”

ตามหลักฐานที่เป็นมา ชื่อนี้สะกดว่า “อิสิคิลิ” –คิลิลิ ล ลิง ไม่ใช่ –ริ ร เรือ จึงต้องสะกดตามนี้ จะสะกดเป็นอย่างอื่นแล้วอธิบายเอาเองตามใจชอบมิได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำก็เหมือนคนบางคน

: ดูน่าเชื่อชอบกล แต่ไม่ใช่อย่างที่เชื่อ

#บาลีวันละคำ (2,865)

16-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย