มุสาวาที (บาลีวันละคำ 2,866)
มุสาวาที
อ่านว่า มุ-สา-วา-ที
ประกอบด้วยคำว่า มุสา + วาที
(๑) “มุสา”
เป็นคำจำพวก “นิบาต” บาลีไวยากรณ์จัดอยู่ในกลุ่ม “นิบาตมีเนื้อความต่างๆ” นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “มุสา = เท็จ”
“มุสา” แปลว่า โดยเท็จ, โดยผิด (falsely, wrongly) ตามหลักบาลีไวยากรณ์ เรียกศัพท์เช่นนี้ว่า “กิริยาวิเสสนะ” หมายถึงคำที่ขยายกริยาให้ชัดลงไปว่าเป็นการกระทำเช่นไร โดยปกติคำว่า “มุสา” นี้จะใช้คู่กับกริยาที่แปลว่า พูด, กล่าว เช่น วทติ, ภณติ, ภาสติ และ พฺรูติ = พูดโดยเท็จ กล่าวเท็จ
(๒) “วาที” (วา-ที) คำเดิมมาจาก วาท + ณี ปัจจัย
(ก) “วาท” (วา-ทะ) รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วท > วาท)
: วทฺ + ณ = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด”
คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :
(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)
(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)
(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)
(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)
(ข) วาท + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี)
: วาท + ณี > อี = วาที แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติกล่าว” หมายถึง ผู้กล่าว, ผู้ชี้แจง, ผู้พูด; ผู้สอน, ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีหรือความเห็น; ผู้โต้แย้ง (speaking of, saying, asserting, talking; professing, holding a view or doctrine; arguing)
มุสา + วาที = มุสาวาที แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติพูดโดยเท็จ”
ขยายความ :
“มุสาวาที” ความหมายหลักอยู่ที่ “มุสาวาท” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มุสาวาท” ไว้ดังนี้ –
(1) ที่คำว่า มุสา (-วาท) : speaking falsely, lying (กล่าวเท็จ, พูดมุสา)
(2) ที่คำว่า (มุสา-) วาท : telling lies, false speech (การพูดโกหก, การพูดไม่จริง)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “มุสาวาท” เป็นอังกฤษว่า false speech
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุสาวาท : (คำนาม) การพูดเท็จ, การพูดปด; คําเท็จ. (ป.).”
“มุสาวาท” เป็นศีลข้อที่ 4 ในศีล 5 ศีล 8 และศีล 10 เป็นข้อ 4 ในกรรมกิเลส 4 เป็นข้อ 7 ในมลทิน 9 และเป็นข้อ 4 ในอกุศลกรรมบถ 10
องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “มุสาวาท” มี 4 คือ :
(1) อตถํ วตฺถุํ เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง และตัวผู้พูดก็รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องไม่จริง
(2) วิสํวาทนจิตฺตํ มีเจตนาจะให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่าเป็นจริงตามพูด
(3) ตชฺโช วายาโม พูดออกไปตามเจตนานั้น
(4) ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ ผู้ที่รับฟังเข้าใจความหมายตามเจตนานั้น
หมายเหตุ :
คำว่า “วาท” ที่แปลตามศัพท์ว่า “คำพูด” นั้น ในกรณีนี้หมายรวมไปถึงการเขียน การทำหรือใช้เครื่องหมาย การแสดงกิริยาท่าทาง ตลอดจนวิธีการสื่อสารอื่นๆ
สรุปว่า –
“มุสาวาท” คือ มุสาวาท, กล่าวกล่าวเท็จ, การโกหก (lying, a falsehood, a lie)
“มุสาวาที” คือ ผู้กล่าวเท็จ, ผู้พูดมุสา (speaking falsely, lying)
…………..
ดูก่อนภราดา!
นตฺถิ อการิยํ ปาปํ
มุสาวาทิสฺส ชนฺตุโน.
: พูดคำโกหกสองคำ
: ที่จะไม่ทำระยำเป็นไม่มี
(นัย.ขุทกนิกาย ธรรมบท 25/23
นัย.ขุทกนิกาย อิติวุตตกะ 25/203)
#บาลีวันละคำ (2,866)
17-4-63