บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

………………………………….

บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

………………………………….

ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย (๐๐๑)

—————————–

หลักคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เป็นหลักฐานชั้นต้นเดิมเรียกกันว่า “พระไตรปิฎก” บางทีก็เรียกว่า “พระบาลี” ท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี

พระไตรปิฎกฉบับที่พิมพ์เป็นอักษรไทยท่านแบ่งเล่มเป็น ๔๕ เล่ม นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับพุทธกิจ ๔๕ พรรษา

หลักคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนามีคำเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระธรรมวินัย”

เป็นอันว่า “พระไตรปิฎก” “พระบาลี” และ “พระธรรมวินัย” หมายถึงสิ่งเดียวกัน คือ หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

เฉพาะ “พระไตรปิฎก” หรือ “พระบาลี” นั้น ถ้าพูดในฐานะเป็นเอกสารหลักฐานก็จัดเป็นข้อมูลหลักฐานชั้นต้น (Primary sources) ยังมีข้อมูลหลักฐานชั้นรองๆ ลงมาอีก เรียกว่า อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา ฯลฯ

รวมทั้งหมดตั้งแต่“พระไตรปิฎก” หรือ “พระบาลี” จนถึงเอกสารหลักฐานชั้นปลายๆ เรียกรวมๆ ว่า คัมภีร์ หรือ “พระคัมภีร์”

ดังนั้น สำหรับชาวพุทธ พอพูดว่าคัมภีร์ หรือ “พระคัมภีร์” ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึงเอกสารหลักฐานทั้งปวงที่บันทึกหลักคำสอน หรือว่าด้วยหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ “พระไตรปิฎก” หรือ “พระบาลี” ลงมา

เนื้อหาของพระไตรปิฎกหรือพระบาลีตลอดจนคัมภีร์ทั้งปวงดังกล่าวมานี้ก็ว่าด้วยหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา อันเรียกรวมอยู่ในคำว่า “พระธรรมวินัย”

“พระธรรมวินัย” ก็คือหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

ที่เรียกบทความชุดนี้ว่า ชุด- “ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย” ก็หมายถึงชวนกันศึกษาเรียนรู้พระคัมภีร์ตั้งแต่พระไตรปิฎกหรือพระบาลีลงมา ตลอดจนคัมภีร์ทั้งปวงดังกล่าวมา

——————–

ตอนนี้เจาะเข้าไปถึงตัวพระไตรปิฎกกันเลย

ถ้าจะศึกษาพระธรรมวินัย ผมขอแนะนำให้เริ่มที่-มหาปรินิพพานสูตร จะได้เห็นบรรยากาศ เหตุการณ์ สถานการณ์ในพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสืบสานสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงเราในทุกวันนี้

“มหาปรินิพพานสูตร” อยู่ในหมวดพระสุตตันตปิฎกหรือ “พระสูตร”

พระสุตตันตปิฎกแบ่งกลุ่มเป็น ๕ กลุ่ม เรียกว่า “นิกาย” คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย

มหาปรินิพพานสูตรอยู่ในกลุ่มทีฆนิกาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมพระสูตรขนาดยาว

มหาปรินิพพานสูตรอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๖๗ ถึงข้อ ๑๖๒ จำนวนหน้าฉบับภาษาบาลีนับได้ ๑๑๑ หน้า

ฉบับแปลเป็นภาษาไทยฉบับหลวงนับได้ ๗๐ หน้า

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่มของมหามกุฏฯ อยู่ในเล่มที่ ๑๓ ตั้งแต่หน้า ๒๓๓ ถึงหน้า ๔๗๑

ปักป้ายบอกทางให้แล้ว ตามไปศึกษากันนะครับ

ในที่นี้ขอยกสาระสำคัญบางตอนมาเสนอเป็นตัวอย่าง ขออัญเชิญพระบาลีมาให้อ่านเทียบกันด้วย

ใครไม่ถนัดก็กัดฟันอ่านกันหน่อยนะครับ

ทีภาษาอังกฤษ ทั้งตัวอักษร ทั้งเสียง เป็นฝรั่งล้วน เรายังยิ้มร่าอ่านกันได้ ไม่เห็นมีใครบ่น ภาษาบาลีเขียนเป็นอักษรไทย-ตัวหนังสือของชาติเราเองแท้ๆ จับหลักได้นิดเดียวก็อ่านได้คล่อง

…………………

[๑๔๑]  อถโข  ภควา  อายสฺมนฺตํ  อานนฺทํ  อามนฺเตสิ  สิยา  โข  ปนานนฺท  ตุมฺหากํ  เอวมสฺส  อตีตสตฺถุกํ  ปาวจนํ  นตฺถิ  โน  สตฺถาติ  น  โข  ปเนตํ  อานนฺท  เอวํ  ทฏฺฐพฺพํ  โย  โว  อานนฺท  มยา  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  เทสิโต  ปญฺญตฺโต  โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา  ฯ 

…………………

อถโข  ภควา  อายสฺมนฺตํ  อานนฺทํ  อามนฺเตสิ 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

สิยา  โข  ปนานนฺท  ตุมฺหากํ  เอวมสฺส  อตีตสตฺถุกํ  ปาวจนํ  นตฺถิ  โน  สตฺถาติ 

ดูก่อนอานนท์ บางที่พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (คือพระธรรมวินัย) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี

น  โข  ปเนตํ  อานนฺท  เอวํ  ทฏฺฐพฺพํ 

ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น

โย  โว  อานนฺท  มยา  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  เทสิโต  ปญฺญตฺโต 

ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใด อันเราแสดงแล้ว บัญญัติไว้แล้ว แก่พวกเธอ

โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา  ฯ 

ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา

…………………

[๑๔๓]  อถโข  ภควา  ภิกฺขู  อามนฺเตสิ  หนฺททานิ  ภิกฺขเว  อามนฺตยามิ  โว  วยธมฺมา  สงฺขารา  อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถาติ  ฯ  อยํ  ตถาคตสฺส  ปจฺฉิมา  วาจา  ฯ 

…………………

อถโข  ภควา  ภิกฺขู  อามนฺเตสิ 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

หนฺททานิ  ภิกฺขเว  อามนฺตยามิ  โว  วยธมฺมา  สงฺขารา 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถาติ  ฯ 

พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

อยํ  ตถาคตสฺส  ปจฺฉิมา  วาจา  ฯ 

นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

…………………

อ่านพระบาลี แล้วอ่านคำแปล นึกถึงอะไรครับ?

สวดมนต์แปล

ใช่แล้ว

ผมขอเสนอแนะว่า ท่านที่ชอบสวดมนต์ และเรียกร้องต้องการเป็นนักหนาว่า เวลาพระสวดมนต์ควรจะสวดคำแปลด้วยเพื่อจะได้รู้เรื่อง

ต่อไปนี้ไม่ต้องรอให้พระแปลก็ได้นะครับ

เราสามารถอัญเชิญพระบาลีพระไตรปิฎกออกมา แล้วยกคำแปลมาอ่านเทียบกันเองได้เลย

ทำแบบที่ผมยกมาข้างต้นนั่นเป็นตัวอย่าง

อยากรู้เรื่องพระพระธรรมวินัยข้อไหน ชอบพระสูตรไหน ก็อัญเชิญพระบาลีออกมา แล้วยกคำแปลออกมาอ่านเทียบ-ทำแบบเดียวกับสวดมนต์แปล

ต่างกันที่-เราไม่จำเป็นต้องสวดซ้ำบทเดียวบทเดิมหรือสวดเฉพาะบทที่คนทำหนังสือสวดมนต์เขาพิมพ์ไว้ให้ อยู่เท่านั้นตลอดปีตลอดชาติ

แต่เราสามารถอัญเชิญพระไตรปิฎกออกมาสวดได้ทุกสูตร ทุกตอน สั้นบ้าง ยาวบ้างตามความสะดวก สวดได้หมดทั้ง ๔๕ เล่ม

พลิกโฉมการสวดมนต์กันไปเลย

เป็นการช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยได้ทางหนึ่งอีกด้วย

อย่ายกภูเขามาขวางหน้านะครับ

(แบบนี้ทำไม่ได้หรอก

แบบนั้นทำไม่ได้หรอก

แบบไหนๆ ก็ทำไม่ได้หรอก)

แต่จงพยายามช่วยกันหาทางปีนข้ามภูเขาไปให้ได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ กันยายน ๒๕๖๒

๑๓:๒๒

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *