เบญจคีรี (บาลีวันละคำ 2,868)
เบญจคีรี
ภูเขาห้าลูก
อ่านว่า เบ็น-จะ-คี-รี
ประกอบด้วยคำว่า เบญจ + คีรี
(๑) “เบญจ”
บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”
(๒) “คีรี”
บาลีเป็น “คิริ” (คำไทยสระ อี คำบาลีสระ อิ) รากศัพท์มาจาก คิรฺ (ธาตุ = ไหลออก, คาย) + อิ ปัจจัย
: คิรฺ + อิ = คิริ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สถานที่คายสมุนไพรออกมา” (2) “สถานที่คายน้ำและตัวยาออกมา” หมายถึง ภูเขา (a mountain)
โปรดสังเกตว่า “คิริ” ในบาลี กลายเสียงเป็น “คีรี” ในภาษาไทย เนื่องจากลิ้นไทยออกเสียง “คีรี” ง่ายกว่า “คิริ”
ปญฺจ + คิริ = ปญฺจคิริ (ปัน-จะ-คิ-ริ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “เบญจคีรี” (เบ็น-จะ-คี-รี)
“เบญจคีรี” แปลว่า “ภูเขาห้าลูก” ในที่นี้ได้แก่ ภูเขาเวภาระ ปัณฑวะ เวปุลละ คิชฌกูฏ และ อิสิคิลิ
(1) “เวภาระ” (เว-พา-ระ) แปลว่า “ภูเขาที่รุ่งเรืองเป็นพิเศษ”
(2) “ปัณฑวะ” (ปัน-ดะ-วะ) แปลว่า “ภูเขาที่มีสีเหลืองอร่าม”
(3) “เวปุลละ” (เว-ปุน-ละ) แปลว่า “ภูเขาที่ใหญ่เป็นพิเศษ”
(4) “คิชฌกูฏ” (คิด-ชะ-กูด) แปลว่า “ภูเขาที่มียอดเหมือนแร้ง” หรือ “ภูเขาที่มียอดเป็นที่อาศัยอยู่ของแร้ง”
(5) “อิสิคิลิ” (อิ-สิ-คิ-ลิ) แปลว่า “ภูเขาที่กลืนฤๅษี”
ภูเขาห้าลูกนี้ตั้งล้อมรอบพระนครราชคฤห์ พระนครราชคฤห์จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เบญจคีรีนคร” แปลว่า “เมืองแห่งภูเขาห้าลูก” และอีกชื่อหนึ่งคือ “คิริพพชะ” แปลว่า “เมืองที่มีภูเขาเป็นคอก” หรือ “เมืองที่มีภูเขาเป็นรั้ว”
อภิปราย :
คนไทยเรียนพุทธประวัติตามตำราที่ผู้รู้ท่านเรียบเรียงไว้ หรือที่มีความรู้ทางบาลีก็เรียนจากคัมภีร์โดยตรง เราย่อมเคยได้ยินชื่อเมืองราชคฤห์และได้รู้ลักษณะของเมืองว่าเป็น “เบญจคีรีนคร” เพราะมีภูเขาห้าลูกตั้งล้อมรอบ ที่มีความจำดีก็จำได้ว่าภูเขาห้าลูกนั้นชื่ออะไรบ้าง เช่นที่จำกันได้ติดปากมากที่สุดก็คือ ภูเขาคิชฌกูฏ
แต่ถ้าลองถามดูว่า ภูเขาคิชฌกูฏตั้งอยู่ทางทิศไหนของเมืองราชคฤห์ ภูเขาคิชฌกูฏตั้งอยู่ใกล้ภูเขาอะไร ภูเขาลูกอื่นๆ ตั้งอยู่ทางทิศไหน เราทั้งหมดก็จะตอบไม่ได้ ตอบได้บ้างก็เป็นแต่เดาเอา และมองไม่ออกบอกไม่ถูกว่าภูมิประเทศบริเวณนั้นเป็นอย่างไร พุทธประวัติในความคิดของพวกเราจึงมีแต่ภาพในจินตนาการ
ปัจจุบันเราอยู่ในยุคเทคโนโลยีก้าวไกลโลกไร้พรมแดน นั่งอยู่กับบ้านในเมืองไทยสามารถเห็นอะไรได้ทั่วจักรวาล แต่เชื่อหรือไม่ว่าชาวพุทธในเมืองไทยก็ยังคงเรียนพุทธประวัติด้วยภาพในจินตนาการเหมือนเดิม
แค่ตำแหน่งของ “เบญจคีรี” ภูเขาห้าลูก เราส่วนใหญ่ก็ยังมืดมัวไม่ต่างไปจากเมื่อร้อยปีหรือห้าร้อยปีที่ผ่านมานั่นเอง
ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้ตัวผู้เขียนบาลีวันละคำนี่เอง เรียนบาลีมาตั้งแต่เป็นสามเณรจนบัดนี้ย่างเข้าปัจฉิมวัย เพิ่งได้เห็นตำแหน่งของภูเขาห้าลูกจากแผนที่ที่พระคุณท่านพระศรายุทธ สิริสาโร บุญยเกตุ นำมาเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันมานี่เอง (ดูภาพประกอบ)
เราสามารถที่จะสร้างวิชา “ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ” (คำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นเป็นลำลอง) ขึ้นมาได้หรือไม่?
เราสามารถสร้างได้แน่นอน โดยหน่วยงานหรือสายงานดังต่อไปนี้ –
๑ มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งโครงการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์พุทธประวัติขึ้น
๒ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเปิดหลักสูตรวิชาภูมิศาสตร์พุทธประวัติขึ้น
๓ วัดไทยในอินเดียจัดโครงการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์พุทธประวัติขึ้น
๔ งานพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ขยายขอบเขตของงานโดยเพิ่มงานศึกษาสำรวจภูมิศาสตร์พุทธประวัติขึ้นอีกสายงานหนึ่งจากงานเผยแผ่ที่ทำอยู่แล้ว
๕ หน่วยงานเอกชนและปัจเจกชนที่มีศรัทธา มีกำลังความคิด มีกำลังความสามารถที่จะลงปฏิบัติงานภาคสนาม มีกำลังทรัพย์ที่จะสนับสนุนเป็นต้น ร่วมมือกันสนับสนุนส่งเสริมให้มีการศึกษาสำรวจภูมิศาสตร์พุทธประวัติอย่างจริงจัง
หน่วยงาน องค์กร สายงาน และบุคคลที่มีความสามารถดังกล่าวนี้เรามีอยู่พร้อมแล้ว ที่ยังขาดอยู่ก็คือ ผู้มีอำนาจสั่งการ และผู้เชี่ยวชาญในการประสานติดต่อ เราไม่รู้ว่าท่านที่มีอำนาจและมีความเชี่ยวชาญเช่นว่านี้ท่านอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรท่านจึงจะสั่งการ หรือลุกขึ้นมาวิ่งเต้นประสานติดต่อให้เกิดรูปงานขึ้นมาได้จริงๆ
ถ้าการศึกษาพุทธศาสนาที่คลุกเคล้าไปด้วยจินตนาการอันพร่ามัวที่เป็นมาเป็นเวลานับร้อยๆ ปีในเมืองไทยเรา มาสว่างกระจ่างแจ้งด้วยการได้เห็นของจริงภาพจริงจากสถานที่จริง ด้วยฝีมือของเราที่ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้น ก็จะเป็นเกียรติยศแก่คนรุ่นเราเป็นอย่างยิ่ง-ไปชั่วกาลนาน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชีวิตไม่ยืนนาน
: แต่ผลงานยืนยาว
#บาลีวันละคำ (2,868)
19-4-63