สูกรมัททวะ (บาลีวันละคำ 2,869)
สูกรมัททวะ
คืออะไร
อ่านว่า สู-กะ-ระ-มัด-ทะ-วะ
ประกอบด้วยคำว่า สูกร + มัททวะ
(๑) “สูกร”
บาลีอ่านว่า สู-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)
: สุ + กรฺ + สุกร + อ = สุกร > สูกร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ทำผลให้อย่างงดงาม” (2) “สัตว์ที่ทำความสุขให้”
(2) สุ (ตัดมาจากคำว่า “สุนฺทร” = งาม) + กร (มือ) + อ ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)
: สุ + กร = สุกร > สูกร แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือคือเท้างาม”
“สูกร” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมู
บาลี “สูกร” สันสกฤตเป็น “สูกร” และ “ศูกร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สูกร, ศูกร : (คำนาม) หมู; ช่างหม้อ; มฤคชนิดหนึ่ง; เศวาลหรือชลนีลิกาชนิดหนึ่ง; a hog; a potter; a sort of deer; a sort of moss.”
“สูกร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุกร” (สุ-กอน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุกร : (คำนาม) หมู (มักใช้เป็นทางการ) เช่น เนื้อสุกร สุกรชําแหละ. (ป.; ส. ศูกร, สูกร).”
โปรดสังเกตว่า บาลีสันสกฤตเป็น “สู-” สระ อู แต่ภาษาไทยเป็น “สุ-” สระ อุ (บาลีใช้เป็น “สุกร” ก็มีบ้าง แต่พบน้อย)
(๒) “มัททวะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “มทฺทว” (มัด-ทะ-วะ) รากศัพท์มาจาก มุทุ + ณฺย ปัจจัย
(1) “มุทุ” รากศัพท์มาจาก มุทฺ (ธาตุ = ยินดี) + อุ ปัจจัย
: มุทฺ + อุ = มุทุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยินดี” “สิ่งอันคนยินดี”
“มุทุ” หมายถึง นุ่ม, ไม่แข็ง, อ่อน, อ่อนโยน (soft, mild, weak, tender)
บาลี “มุทุ” สันสกฤตเป็น “มฤทุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“มฤทุ : (คำคุณศัพท์) อ่อน, นุ่ม; เย็น; สถูล; ขี้เท่อ; โกมล; กัลยาณ; soft; cool; blunt; gentle, mild.”
(2) มุทุ + ณฺย ปัจจัย, แปลง มุ-(ทุ) เป็น มทฺ (มุทุ > มทฺทุ), แผลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (มุทุ > มุโท > มุทว), ลบ ณฺย
: มุทุ + ณฺย = มุทุณฺย > มุทุ > มทฺทุ > มทฺโท > มทฺทว (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้ที่ยินดี” “ความเป็นผู้อันคนยินดี” หมายถึง ความอ่อน, ความนุ่ม, ความสุภาพ (mildness, softness, gentleness)
“มทฺทว” ในที่นี้เขียนตามบาลีเป็น “มัททวะ” อ่านว่า มัด-ทะ-วะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มัททวะ” ไว้ว่า –
“มัททวะ : ความอ่อนโยน, ความนุ่มนวล, ความละมุนละไม (ข้อ ๕ ในราชธรรม ๑๐).”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัททวะ : คำนาม) ความอ่อนโยน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม).”
โปรดทราบว่า ในที่นี้ “มัททวะ” ไม่ได้หมายถึงธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม แต่ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึงอ่อนนุ่ม
สูกร + มทฺทว = สูกรมทฺทว เขียนแบบไทยเป็น “สูกรมัททวะ” แปลตามศัพท์เท่าที่ตาเห็นว่า “หมูนุ่ม”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สูกรมัททวะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
สูกรมัททวะ : ชื่ออาหารซึ่งนายจุนทะกัมมารบุตร แห่งเมืองปาวา ถวายแด่พระพุทธเจ้า ในวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นบิณฑบาตมื้อสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสวยก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบิณฑบาตที่มีผลเสมอกับบิณฑบาตที่พระองค์เสวยแล้วได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ และบิณฑบาต ๒ ครั้งนี้มีผลมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าบิณฑบาตครั้งอื่นใดทั้งสิ้น (ที.ม.๑๐/๑๒๖/๑๕๘; บิณฑบาตที่เสวยในวันตรัสรู้ คือข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวาย), หลังจากเสวยสูกรมัททวะแล้ว พระพุทธเจ้าก็ประชวรหนัก และเมื่อเสด็จถึงเมืองกุสินาราแล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในราตรีนั้น
“สูกรมัททวะ” นี้ มักแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่อรรถกถาแปลต่างเป็นหลายนัย อรรถกถาแห่งหนึ่งให้ความหมายไว้ถึง ๔ อย่าง (อุ.อ.๔๒๗) ว่า ๑. มหาอัฏฐกถาซึ่งเป็นอรรถกถาโบราณบอกไว้ว่าเป็นเนื้อหมู ที่นุ่มรสสนิท ๒. อาจารย์บางพวกว่าเป็นหน่อไม้ ที่หมูชอบไปดุดย่ำ ๓. อาจารย์อีกพวกหนึ่งว่าเป็นเห็ด ซึ่งเกิดในบริเวณที่หมูดุดย่ำ และ ๔. ยังมีอาจารย์พวกอื่นอีกว่าเป็นยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง ส่วนอรรถกถาอีกแห่งหนึ่ง (ที.อ.๒/๑๗๒) บอกความหมายไว้ ๓ นัยว่า เป็นเนื้อหมูตัวเอกที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป บ้างว่าเป็นข้าวที่นุ่มนวลกลมกล่อม ซึ่งมีวิธีปรุงโดยใช้เบญจโครส (ผลผลิตจากน้ำนมโค ๕ อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส เนยข้น) บ้างว่าเป็นยาอายุวัฒนะ.
…………..
ขอยกคำในต้นฉบับอรรถกถาตามที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ อ้างถึงมาเสนอเป็นข้อมูลดังนี้ –
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 172 (อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร) แสดงความหมายของ “สูกรมัททวะ” ไว้ดังนี้ –
(1) นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฺฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ = เนื้อหมูตัวเอกที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป
(2) มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ = ข้าวที่นุ่มนวลกลมกล่อม ซึ่งมีวิธีปรุงโดยใช้เบญจโครส (ผลผลิตจากน้ำนมโค 5 อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส เนยข้น)
(3) รสายนวิธิ = ยาอายุวัฒนะ
คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อุทานวัณณนา หน้า 427 (อรรถกถาคัมภีร์อุทาน) แสดงความหมายของ “สูกรมัททวะ” ไว้ดังนี้ –
(1) สูกรสฺส มุทุสินิทฺธํ ปวตฺตมํสํ = เนื้อหมู ที่นุ่มรสสนิท
(2) สูกเรหิ มทฺทิตวํสกฬีโร = หน่อไม้ ที่หมูชอบไปดุดย่ำ
(3) มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกํ = เห็ด ซึ่งเกิดในบริเวณที่หมูดุดย่ำ
(4) เอกํ รสายตนํ = ยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง
ไขคำ :
๑ ตามนัยแห่งอรรถกถาที่แสดงไว้นี้ คำว่า “ทัททวะ” มีความหมายอีกนัยหนึ่งเท่ากับ “มทฺทิต” (มัด-ทิ-ตะ) ซึ่งแปลว่า “(สิ่งที่ถูก) ขยำย่ำเหยียบ”
คำว่า “มทฺทิต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) นวดให้เข้ากัน, ผสม (kneaded, mixed)
(2) ขยี้, ทำให้แพ้ (crushed, defeated)
๒ คำว่า “รสายน” (ระ-สา-ยะ-นะ) หรือ “รสายตน” (ระ-สา-ยะ-ตะ-นะ) ในความหมายที่กำลังกล่าวถึงนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำขยายความในคัมภีร์บาลี (ท่านผู้ใดพบ ขอความกรุณานำมาบอกกล่าวเผยแพร่ด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)
ในพระไตรปิฎกฉบับ “พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล” ชุด 91 เล่ม แปล “รสายนวิธิ” ว่า “วิธีปรุงรส” แปล “รสายตน” ว่า “บ่อเกิดแห่งรส” ซึ่งยังไม่ชัดว่าหมายถึงอะไร
แต่ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “รสายน” (ระ-สา-ยะ-นะ) บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“รสายน : (คำนาม) รสวิทยา, วิชาหรือการแปรธาตุเบื้องต้น; การใช้ปรอทแซกยา; ยาอายุวรรธนะ, ยากันความชราและบำรุงอายุให้ยืนนาน; ยาพิษ; โครสหรือนมส้ม; ครุฑ; รสายนวิท, รสัชญ์, ผู้เล่นแร่แปรธาตุหรือหวังสำเร็จปรอท; alchemy; the infant stage of chemistry; employment of mercury in medicine; elixir vita, a medicine preventing old age and prolonging life; poison; butter-milk; Garuda; an alchemist.”
ในภาษาไทย มีคำว่า “รสายนเวท” (ระ-สา-ยะ-นะ-เวด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รสายนเวท : (คำนาม) วิชาประสมแร่แปรธาตุ, วิชาเคมียุคเล่นแร่แปรธาตุ. (ส.).”
เป็นอันค่อนข้างแน่นอนว่า “สูกรมัททวะ” ที่หมายถึง “รสายนวิธิ” หรือ “รสายตน” ในอรรถกถา ก็คือ ยาอายุวัฒนะที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีชนิดหนึ่ง
นายจุนทะอยู่ในตระกูลช่างทองซึ่งจะต้องมีความรู้ในวิชาเคมีและสามารถที่จะปรุงยาโดยใช้วิชาเคมีเข้าช่วยได้ สอดคล้องกับที่อรรถกถาขยายความต่อไปด้วยว่า –
(1) ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ. ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ. (คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 172)
รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ สูกรมัททวะนั้นนายจุนทะตกแต่งตามรสายนวิธี ด้วยประสงค์ว่าการปรินิพพานจะยังไม่พึงมีแก่พระผู้มีพระภาค
(2) อปฺเปวนาม นํ ปริภุญฺชิตฺวา จิรตรํ ติฏฺเฐยฺยาติ สตฺถุ จิรชีวิตุกมฺยตาย อทาสีติ วทนฺติ. (คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อุทานวัณณนา หน้า 427)
นายจุนทะดำริว่า “ไฉนหนอพระผู้มีพระภาคเสวยสูกรมัททวะนี้แล้วพึงดำรงพระชนม์อยู่ยืนนานยิ่งขึ้น” จึงได้ถวายเพื่อประสงค์จะให้พระศาสดาดำรงพระชนมายุได้ตลอดกาลนาน
…………..
ที่แสดงมาทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลที่ว่า “สูกรมัททวะ” ในคัมภีร์ท่านไขความว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง
รู้ข้อมูลแล้ว ใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร ย่อมเป็นเสรีภาพทางวิชาการหรือเสรีภาพทางศาสนา แต่ไม่พึงเดาสุ่มไปก่อนโดยไม่ศึกษาอะไรเลย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่รู้จงศึกษา
: อย่าเดา
#บาลีวันละคำ (2,869)
20-4-63