บาลีวันละคำ

สุทธาศรีอภิรมย์ (บาลีวันละคำ 2445)

สุทธาศรีอภิรมย์

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

สุทธาศรีอภิรมย์” อ่านว่า สุด-ทา-สี-อะ-พิ-รม แยกศัพท์เป็น สุทธา + ศรี + อภิรมย์

(๑) “สุทธา

บาลีรูปคำเดิมเป็น “สุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สุด-ทะ) รากศัพท์มาจาก สุธฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด, บริสุทธิ์, ผุดผ่อง) + ปัจจัย, แปลง เป็น ทฺธ แล้วลบที่สุดธาตุ (สุธฺ > สุ) หรือนัยหนึ่งแปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ

: สุธฺ + = สุธต > สุธทฺธ > สุทฺธ (สุธฺ + = สุธต > สุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บริสุทธิ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุทฺธ” ว่า –

(1) clean, pure (สะอาด, บริสุทธิ์)

(2) purified, pure of heart (ได้รับการชำระ, มีจิตบริสุทธิ์)

(3) simple, mere, unmixed, nothing but (ธรรมดา, เพียง, ไม่เจือปน, ไม่มีสิ่งใดนอกจาก)

สุทฺธ” ใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ ในที่นี้เป็นคุณศัพท์ของสตรี จึง + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “สุทฺธา” เขียนแบบไทยไม่มีจุดใต้ จึงเป็น “สุทธา

(๒) “ศรี

บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ปัจจัย + อิ (หรือ อี) ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” (2) “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

(1) splendour, beauty (ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม)

(2) luck, glory, majesty, prosperity (โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง)

(3) the goddess of luck (เทพธิดาแห่งโชคลาภ)

(4) (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) the royal bed-chamber (ห้องบรรทม)

สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” เขียนตามสันสกฤตเป็น “ศรี” อ่านว่า สี

คำว่า “ศฺรี” ในสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ศรี” ไว้ 4 คำ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ศรี ๑ : (คำนาม) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).

(2) ศรี ๒ : (คำนาม) พลู. (ม.); (คำราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี.

(3) ศรี ๓ : (คำนาม) ผู้หญิง. (ข. สี).

(4) ศรี ๔ : (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำนาม) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี. (อภัย).

ศรี” ในที่นี้น่าจะมีความหมายตามข้อ (1) และอาจหมายถึง “ศรี” ตามข้อ (3) ได้ด้วย

(๓) “อภิรมย์” ประกอบด้วยคำว่า อภิ + รมย์

(ก) “อภิ” เป็นคำจำพวกอุปสรรค ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, เฉพาะ, ข้างหน้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “อภิ” ว่า –

(1) towards, against, on to, at (ไปทาง, เผชิญ, ไปยัง, ที่)

(2) over, along over, out over, on top of (เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน)

(ข) “รมย์” เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “รมฺม” (รำ-มะ) รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง มฺย ( ที่ รมฺ + ที่ ณฺย) เป็น มฺม

: รมฺ + ณฺย = รมณฺย > รมฺย > รมฺม แปลตามศัพท์ว่า “น่ายินดี” เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง น่ารื่นรมย์, น่าจับใจ, สวยงาม (enjoyable, charming, beautiful)

โปรดสังเกตว่า “รมฺม” ผ่านรูปเป็น “รมฺย” (เหมือนในสันสกฤต) มาก่อน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

รมฺย : (คำคุณศัพท์) ต้องอารมณ์, ประโมทิน, มีความประโมท; งาม; pleasing, delightful; handsome or beautiful.”

อภิ + รมฺม = อภิรมฺม (บาลี) > อภิรมฺย (สันสกฤต) > อภิรมย์ (ไทย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อภิรมย์ : (คำกริยา) รื่นเริงยิ่ง, ดีใจยิ่ง, ยินดียิ่ง; พักผ่อน; ใช้ว่า ภิรมย์ ก็มี. (ส.; ป. อภิรมฺม).”

การประสมคำ :

(๑) สุทธา + ศรี = สุทธาศรี แปลว่า “สตรีผู้หมดจด” หรือ “ห้องนอนที่สะอาด

(๒) สุทธาศรี + อภิรมย์ = สุทธาศรีอภิรมย์ แปลว่า “ห้องนอนที่สะอาดควรแก่การอภิรมย์

ตามที่ทราบ พระที่นั่ง “สุทธาศรีอภิรมย์” เป็นห้องพระบรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5

อภิปราย :

๑ ในที่นี้แปล “ศรี” ว่า สตรี คือผู้หญิง ตามนัยแห่ง “ศรี” ในข้อ (3) (ดูข้างต้น)

เมื่อ “ศรี” หมายถึง สตรี “สุทธา” ซึ่งเป็นคำขยายก็ต้องแปลว่า “ผู้หมดจด” ดังมีคำชมสตรีที่งามว่า “หน้าตาหมดจด” หรือ “ผิวพรรณหมดจด” คำว่า “หมดจด” ก็ตรงกับคำว่า “สุทธา” นั่นเอง

๒ ในบาลี “สิริ” เมื่อสมาสกับ “คพฺภ” เป็น “สิริคพฺภ” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “ห้องอันมีสิริ” เพราะยังติดใจที่จะต้องแปล (ทับศัพท์) “สิริ” ว่า สิริ อยู่ด้วย แต่เมื่อถามว่า “ห้องอันมีสิริ” คือห้องอะไร ก็มักไม่เข้าใจ

อันที่จริง ความหมายของ “สิริคพฺภ” ก็คือ ห้องนอน (bedroom) นั่นเอง ห้องนอนของเจ้านายเรียกว่า ห้องบรรทม ดังที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า the royal bed-chamber (ดูข้างต้น)

๓ มีคำกลอนในเพลงยาวถวายโอวาทคำหนึ่งว่า “อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์ อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน” คำว่า “ศรี” ในคำว่า “ศรีไสยาสน์” ก็คือ “สิริ” และคำนี้ก็หมายถึงที่นอนตรงตัว (ไม่ต้องไปแปลว่า “ที่นอนอันมีสิริ”)

เป็นอันว่า คำว่า “สิริ” ในบาลีเมื่อเอามาใช้เป็น “ศรี” ในภาษาไทย อาจตีความให้หมายถึง “ห้องนอน” หรือ “ที่นอน” ได้ด้วย ผู้เขียนบาลีวันละคำจึงขอแปล “สุทธาศรี” อีกนัยหนึ่งว่า “ห้องนอนที่สะอาด

๔ คำว่า “อภิรมย์” ในภาษาไทย นอกจากจะหมายถึง รื่นเริง ยินดี หรือพักผ่อนแล้ว ยังมีความหมายโดยนัยแฝงอยู่ด้วย ดังคำที่มักพบในวรรณคดีว่า “ร่วมอภิรมย์” หรือ “อภิรมย์สมสอง” ซึ่งถ้าไม่รู้หรือไม่ทันคิดก็จะไม่เห็นและไม่รู้สึกแปลกแต่ประการใด

โดยนัยดังอภิปรายมา ชื่อพระที่นั่ง “สุทธาศรีอภิรมย์” จึงแฝงนัยบางประการไว้อย่างแนบเนียนเหนือชั้นจริงๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อภิรมย์ด้วยโลกีย์ ต้องแอบให้ลับลี้จากสายตามนุษย์

: อภิรมย์ด้วยโลกุตร อวดได้ทั้งมนุษย์และเทพยดา

#บาลีวันละคำ (2,445)

21-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *