บทความเรื่อง กลองอานกะ
กลองอานกะ (๑)
————-
เคยได้ยินชื่อกลองใบนี้ไหม – กลองอานกะ?
กลองใบนี้มีประวัติความเป็นมาที่สุดแสนจะพิสดาร
………………
ในป่าหิมพานต์ มีสระใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง มีปูยักษ์อาศัยอยู่ในสระนั้น เวลาช้างมาลงกินน้ำ ปูยักษ์ก็จับช้างกินเป็นอาหาร
พวกช้างถูกปูจับกินทุกวันก็หวาดหวั่น พากันคิดหาที่พึ่ง ได้คิดเห็นร่วมกันว่า ถ้าได้ช้างผู้มีบุญมาเกิดก็คงจะช่วยป้องกันภัยให้แก่บรรดาช้างทั้งหลายได้
คิดดังนี้ จึงยกย่องช้างพังตัวหนึ่ง (ช้างป่ายังไม่ได้จับมาฝึก ลักษณนามเรียกว่า “ตัว” ช้างที่ฝึกแล้ว ลักษณนามเรียกว่า “เชือก” เนื่องจากใช้เชือกล่าม) ให้เป็นเสมือนแม่ย่านาง พากันเคารพสักการะบำรุงนางช้างนั้น
ต่อมา นางช้างก็ตกลูกเป็นช้างพลาย ลักษณะเป็นช้างมีบุญ พวกช้างก็พากันเคารพสักการะบำรุงลูกช้างนั้นด้วยหวังว่าลูกช้างจะเป็นที่พึ่งป้องกันภัยให้ได้
เมื่อลูกช้างโตขึ้นเป็นช้างพลายงางาม ถามแม่ช้างว่าทำไมพวกช้างจึงเคารพสักการะบำรุงเช่นนี้ ได้รู้ความนั้นแล้วจึงชวนกันไปยังสระปูยักษ์นั้น ตัวเองเดินนำหน้าลงสระ
ปูยักษ์ได้ยินเสียงน้ำโครมครามก็โผล่ขึ้นมา ใช้ก้ามหนีบช้างพลายนั้นไว้ได้ ช้างพลายดิ้นไม่หลุดก็ส่งเสียงร้องลั่นป่า ช้างทั้งหลายก็เตลิดหนีกระจายไป
ฝ่ายแม่ช้างไม่ยอมหนี เข้าไปยืนใกล้ๆ ปูยักษ์ เอ่ยขึ้นด้วยมธุรสวาจาว่า
………………
เย กุฬีรา สมุทฺทสฺมึ
คงฺคาย ยมุนาย จ
เตสํ ตฺวํ วาริโช เสฏฺโฐ
มุญฺจ โรทนฺติยา ปชํ.
บรรดาปูทั้งหลายในทะเล
ทั้งในแม่น้ำคงคาและยมุนา
ท่านเป็นสัตว์น้ำที่ประเสริฐที่สุด
ขอจงปล่อยลูกของเราผู้ร้องขออยู่นี้เถิด
………………
ท่านว่าธรรมดาเสียงของสตรีย่อมยังจิตบุรุษให้หวั่นไหว (ปูตัวนี้เป็นปูตัวผู้!) พอจิตหวั่นกายก็ไหว ก้ามที่หนีบแน่นก็คลาย
ช้างหนุ่มมีสติ รอจังหวะอยู่ ก็สะบัดตัวหลุดจากก้าม แล้วกระทืบเท้าลงบนหลังปู กระดองปูก็แตก ช้างหนุ่มใช้งาแทงงัดตัวปูยักษ์กระเด็นไปบนบก ช้างทั้งหลายก็พากันหันหลังกลับมาช่วยกันกระทืบปูยักษ์จนแหลก
ก้ามปูยักษ์ก้ามหนึ่งกระเด็นขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์เก็บเอาไป (อันนี้บรรยายความตามต้นฉบับ)
อีกก้ามหนึ่งถูกทิ้งตากแดดตากลมอยู่ในป่าหิมพานต์ มีสีงามเหมือนน้ำครั่ง ฝนตกก็ลอยตามน้ำไปจนถึงแม่น้ำคงคา ไปติดตาข่ายของพระราชาเมืองหนึ่งที่กั้นกลางน้ำในเวลาลงสรง เก็บขึ้นมา เห็นว่าสวยงามดีจึงเอาไปทำเป็นตัวกลอง
กลองใบนี้เมื่อตีเสียงดังกังวานตลบกลบทั่วเมืองในรัศมี ๑๒ โยชน์ ผู้คนได้ยินเสียงกลองก็ตื่นเต้นตกตะลึงพากันมาดูจากทั่วทุกสารทิศ
เพราะเสียงกลองสามารถเรียกคนให้มาดูได้ดังนี้ จึงเรียกชื่อกลองใบนี้ว่า “กลองอานกะ” (-อา-นะ-กะ) แปลว่า “กลองเรียกคน”
เห็นพ้องต้องกันว่า กลองใบนี้จะตีบอกโมงยามประจำวันไม่ได้ เพราะตีทีไรผู้คนก็แห่กันมา จึงตกลงกันว่า จะตีกลองอานกะเฉพาะเมื่อถึงเทศกาลงานมงคลของบ้านเมืองเท่านั้น
กลองอานกะเป็นมงคลเภรีคือกลองประจำเมืองมาช้านานหลายชั่วกษัตริย์ กระทั่งชิ้นส่วนตัวกลองที่เป็นก้ามปูค่อยๆ ชำรุดผุพังไปทีละชิ้น
เมื่อชิ้นไหนชำรุด เจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนเอาเนื้อเงินบ้างเนื้อทองบ้างบุแผ่ซ่อมแทนลงไปที่ชิ้นนั้น
ครั้นนานปีเข้า ตัวกลองที่เป็นก้ามปูก็ค่อยๆ หมดไป เนื้อใหม่ที่แทรกซ่อมลงไปแทนก็กลายเป็นของอย่างอื่นมากขึ้น จนในที่สุดตัวกลองอานกะที่เคยเป็นก้ามปูก็หมดไป แม้กลองจะยังอยู่ตามรูปทรงเดิมทุกประการ แต่เนื้อวัสดุที่เป็นตัวกลองไม่ใช่ก้ามปูอีกต่อไป
ตอนนี้ เมื่อตีกลองอานกะ ก็ไม่มีเสียงก้องกังวานไกลอีกแล้ว แม้อยู่ในศาลาที่แขวนกลองนั้นเองก็แทบจะไม่ได้ยินเสียง
เรื่องกลองอานกะนี้สื่อให้รู้ว่าอะไร?
ลองช่วยกันคิดไปพลางๆ นะครับ
……………….
เรียบเรียงจากอรรถกถาอาณิสูตร
คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๒ หน้า ๓๕๗-๓๕๙
……………….
๒๑ เมษายน ๒๕๖๓
๑๘:๔๒
ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก