บาลีวันละคำ

ปูชนียะ (บาลีวันละคำ 2,870)

ปูชนียะ

ไม่ใช่ “ปู” + “ชะนี” นะยะ

อ่านว่า ปู-ชะ-นี-ยะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ปูชนีย” อ่านว่า ปู-ชะ-นี-ยะ

ก่อนถึง “ปูชนีย” มีคำที่น่ารู้ 2 คำ คือ “ปูชา” และ “ปูชน

(๑) “ปูชา” (ปู-ชา) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปูชฺ + = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention)

ปูชา” คำนี้ก็คือที่เราเอามาใช้เป็น “บูชา” (บาลี ปลา ไทย ใบไม้)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”

โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี “ปูชา” เป็นคำนาม แต่ในภาษาไทย “บูชา” เป็นคำกริยา

(๒) “ปูชน” (ปู-ชะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ปูชฺ + ยุ > อน = ปูชน แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” มีความหมายเช่นเดียวกับ “ปูชา

ในภาษาไทย เราใช้ “ปูชา” เป็น “บูชา” แต่ไม่ได้ใช้ “ปูชน

ในคำว่า “ปูชนีย” นี้ รากศัพท์มาจาก ปูชน + อีย ปัจจัย

: ปูชน + อีย = ปูชนีย แปลตามหลักการตั้งรูปวิเคราะห์ (รูปวิเคราะห์: การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “ชนใดย่อมควรซึ่งการบูชา เหตุนั้น ชนนั้นชื่อ ปูชนีย = ผู้ควรซึ่งการบูชา

ปูชนีย” (คุณศัพท์) หมายถึง พึงบูชา, ควรยกย่อง, ควรนับถือ (to be honoured, entitled to homage)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปูชนีย-, ปูชนียะ : (คำวิเศษณ์) น่านับถือ, น่าบูชา, เช่น ปูชนียวัตถุ ปูชนียบุคคล. (ป.).”

แนวคิดทางธรรม :

ใครเป็น “ปูชนียะ” ของใคร ขอเสนอแนวคิดทางธรรมพอเป็นทางดำริ(ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย) ดังนี้ –

…………..

ปพฺพชิเตสุ  อาจริยุปชฺฌายา  อนฺเตวาสิกาทีนํ  ปูชเนยฺยา  วุฑฺฒตรา  นวกานํ  สพฺเพ  ปพฺพชิตา  คหฏฺฐานํ.

ในฝ่ายบรรพชิต อาจารย์และอุปัชฌายะเป็นปูชนียะของเหล่าอันเตวาสิกเป็นต้น, ภิกษุผู้แก่กว่าเป็นปูชนียะของภิกษุผู้ใหม่, บรรพชิตทั้งหมดเป็นปูชนียะของพวกคฤหัสถ์

คหฏฺเฐสุ  ปน  เชฏฺฐภาตุภคินิโย  กนิฏฺฐานํ  ปูชเนยฺยา  ปุตฺตานํ  มาตาปิตโร  กุลวธูนํ  สามิกสสฺสุสสุรา.

ในฝ่ายคฤหัสถ์ พี่ชายหญิงเป็นปูชนียะของน้องชายหญิง, มารดาบิดาเป็นปูชนียะของบุตรทั้งหลาย, สามีและพ่อผัวแม่ผัวเป็นปูชนียะของบุตรในสกุล

ที่มา: คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 78

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเป็นคนที่โลกชื่นชมไม่ได้

: ก็ขอเพียงอย่าเป็นใครที่โลกสาปแช่ง

#บาลีวันละคำ (2,870)

21-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย