บาลีวันละคำ

อาจิณสมาจาร (บาลีวันละคำ 3,925)

อาจิณสมาจาร

ฝึกให้เป็นสันดานในการทำดี

อ่านว่า อา-จิน-นะ-สะ-มา-จาน

ประกอบด้วยคำว่า อาจิณ + สมาจาร

(๑) “อาจิณ

อ่านว่า อา-จิน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า อา-จิน-นะ- (ต่อด้วยคำนั้นๆ) เช่น “อาจิณกรรม” อ่านว่า อา-จิน-นะ-กำ (ไม่ใช่ อา-จิน-กำ)

อาจิณ” บาลีเป็น “อาจิณฺณ” อ่านว่า อา-จิน-นะ ประกอบด้วย อา + จิณฺณ 

(ก) “อา” เป็นคำอุปสรรค ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้ประกอบกับคำอื่นเสมอ นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “อา = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ” 

อา = “ทั่ว” เช่น “อาภา” = สว่างทั่ว, สว่างไสวรอบทิศ

อา = “ยิ่ง” เช่น “อาตาป” = ความร้อนอย่างยิ่ง

อา = “กลับความ” หมายถึง คำเดิมมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมี “อา” ไปนำหน้า ความหมายกลับเป็นตรงกันข้าม เช่น – 

คม” = ไป : “อาคม” = มา 

ทาน” = ให้ : “อาทาน” = เอา, ฉวยเอา

พึงทราบว่า คำอุปสรรค “อา” นี้ เมื่อไปนำหน้าคำนามคำกริยาใดๆ ย่อมทำให้คำนั้นๆ มีความหมายยักเยื้องไปต่างๆ เป็นอเนกนัยแล

(ข) “จิณฺณ” อ่านว่า จิน-นะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป, ประพฤติ) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ > + อิ + ), ลบที่สุดธาตุ, แปลง เป็น ณฺณ 

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิ + = อาจริต > อาจิต > อาจิณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติทั่วถึงแล้ว” หมายถึง ปฏิบัติ, กระทำ (เป็นนิสัย) (practiced, performed, [habitually] indulged in)

อาจิณฺณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาจิณ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจิณ, อาจิณ– : (คำวิเศษณ์) เป็นปรกติ, ติดเป็นนิสัย, เสมอ ๆ, เนือง ๆ. (ป. อาจิณฺณ; ส. อาจิรฺณ).”

อภิปรายแทรก : 

คำที่หมายถึง “เป็นปรกติ, ติดเป็นนิสัย, เสมอ ๆ, เนือง ๆ” ออกเสียงว่า อา-จิน สะกดว่า “อาจิณ” 

ใครเขียนคำนี้สะกดเป็น “อาจินต์” คือเขียนผิด

แต่ “อาจินต์” ที่เป็นชื่อคน เช่น “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ถือว่าเป็นวิสามานยนาม (proper name) อยู่ในเกณฑ์ยกเว้น หมายความว่าคำที่เป็นชื่อเฉพาะเช่นนั้นจะสะกดแบบไหน รวมทั้งจะให้มีความหมายอย่างไร ย่อมเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อ คือต้องสะกดตามนั้นและแปลความหมายตามนั้น ส่วนจะผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ชื่อเฉพาะที่เขียนผิดจากคำปกติเช่นนี้มีทั่วไป ยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ก็อย่างเช่น “สถิตย์” (คำปกติสะกดว่า “สถิต” ไม่มี ย์) “เอนก” (คำปกติสะกดว่า “อเนก อ่าง อยู่หน้าสระ เอ) รวมทั้ง “อาจินต์” คำนี้ด้วย 

ถ้าจะลองวิเคราะห์ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็อาจจะอธิบายได้ว่า แต่ดั้งเดิมนั้นเรารับสารกันทางเสียงเป็นพื้น (จึงมีคำเรียกคนที่มีความรู้มากว่า “พหูสูต” ซึ่งแปลว่า “ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก”) คือฟังแต่คำพูดแล้วรับรู้ตามเสียงที่พูดนั้น แต่ไม่ได้นึกถึงตัวอักษรที่จะเขียนคำนั้นๆ เพราะการ “อ่าน-เขียน” เป็นความสามารถอีกขั้นหนึ่งนอกเหนือไปจาก “ฟัง-พูด” หรือจะว่าการอ่าน-เขียนเป็นหน้าที่ของคนอีกจำพวกหนึ่งก็คงไม่ผิด คนจำนวนมากที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่มีความรู้ในเรื่องต่างๆ พอสมควรอันได้มาจากการฟัง ก็มีให้เห็นเป็นประจักษ์พยานอยู่มากมาย จะว่าไปแล้ว สมัยโบราณคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีจำนวนมากกว่าที่อ่านออกเขียนได้-นี่ก็เป็นที่ประจักษ์กันอยู่ 

ครั้นมาถึงคนที่ทำหน้าที่เขียน-อ่าน เนื่องจากการศึกษาวิชาหนังสือแต่เดิมมายังไม่แพร่หลายลึกซึ้งกว้างขวาง ส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับที่นิยมพูดกันว่า พอ “อ่านออกเขียนได้” เท่านั้น เมื่อแปลงเสียงพูดออกมาเป็นตัวอักษร อักขรวิธีจึงยักเยื้องไปต่างๆ แล้วแต่ว่าผู้เขียนจะมีความรู้มากน้อยแค่ไหน คำคำเดียวกันแต่สะกดต่างกันไปตามใจชอบจึงมีอยู่ทั่วไป ผู้ทำงานเกี่ยวกับหนังสือและเอกสารโบราณ (ใบลาน-สมุดข่อย-จารึก) ย่อมยืนยันในความจริงข้อนี้ได้อย่างแน่นอน

สภาพการเช่นนี้ดำเนินมาจนถึงสมัยที่มีการทำหนังสือประเภท dictionary จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์กันขึ้นว่าคำไหนควรสะกดแบบไหน และใช้ในความหมายว่าอย่างไร

กล่าวเฉพาะอักขรวิธีในภาษาไทย ว่าตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็เริ่มกำหนดหลักเกณฑ์ดังว่านั้นใช้กันมาตั้งแต่พุทธศักราช 2493 เป็นต้นมา 

แม้กระนั้น การสะกดคำต่างๆ ก็ยังผิดพลาด คลาดเคลื่อน และลักลั่นกันอยู่เสมอ คำว่า “สถิตย์” “เอนก” “อาจินต์”  ฯลฯ ล้วนแต่เขียนผิดติดมือกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทั้งนั้น 

(๒) “สมาจาร

ภาษาไทยอ่านว่า สะ-มา-จาน บาลีอ่านว่า สะ-มา-จา-ระ ประกอบด้วยคำว่า สม + อาจาร

(ก) “สม” บาลีอ่านว่า สะ-มะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + (อะ) ปัจจัย

: สมฺ + = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” (คืออยู่เคียงคู่กัน) 

สม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)

(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)

(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)

(ข) “อาจาร” บาลีอ่านว่า อา-จา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (จรฺ > จารฺ)

: อา + จรฺ = อาจรฺ + = อาจรณ > อาจร > อาจาร แปลตามศัพท์ว่า “การประพฤติทั่ว” = อันใดที่ควรประพฤติ ก็ประพฤติอันนั้นทั่วทั้งหมด ไม่บกพร่อง 

อาจาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม = การวางตัว, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ความประพฤติชอบ, กิริยามารยาทที่ดี (way of behaving, conduct, practice, right conduct, good manners)

(2) เป็นคำคุณศัพท์ = ประพฤติดี, ประพฤติชอบ, มีความประพฤติเช่นนั้นเป็นกิจวัตร (practising, indulging in, or of such & such a conduct)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจาร, อาจาร– : (คำนาม) ความประพฤติ, ความประพฤติดี; จรรยา, มรรยาท; ธรรมเนียม, แบบแผน, หลัก. (ป., ส.).”

สม + อาจาร = สมาจาร (สะ-มา-จา-ระ) แปลว่า “ความประพฤติสม่ำเสมอ” (conduct, behaviour) คือเรื่องนั้นๆ ประพฤติกี่ครั้งก็เหมือนกันทุกครั้ง

: อาจิณฺณ + สมาจาร = อาจิณฺณสมาจาร บาลีอ่านว่า อา-จิน-นะ-สะ-มา-จา-ระ

อาจิณฺณสมาจาร” ในภาษาไทยตัด ออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อาจิณสมาจาร” อ่านว่า อา-จิน-นะ-สะ-มา-จาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจิณสมาจาร : (คำนาม) มรรยาทที่เคยประพฤติมาจนติดเป็นนิสัย. (ป. อาจิณฺณสมาจาร).”

ขยายความ :

รูปคำบาลี “อาจิณฺณสมาจาร” ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี พบที่ใกล้เคียงที่สุดเป็น “อาจิณฺณสมาจิณฺณ” (อา-จิน-นะ-สะ-มา-จิน-นะ) คือ อาจิณฺณ + สมาจิณฺณ 

อาจิณฺณ” กับ “สมาจิณฺณ” มีความหมายไม่ต่างกัน แต่เมื่อรวมเป็นคำเดียวกัน ก็ทำให้มีความหมายหนักแน่นขึ้น 

เทียบกับคำไทย เช่น “ขยัน” กับ “หมั่นเพียร” มีความหมายไม่ต่างกัน แต่เมื่อพูดรวมกันเป็น “ขยันหมั่นเพียร” ความหมายก็หนักแน่นขึ้น

แถม :

ดังได้สดับมา นักวิชาการรุ่นใหม่ท่านว่า การใดๆ ก็ตาม ถ้าทำติดต่อกันสม่ำเสมอเป็นเวลา 21 วันขึ้นไป การนั้นๆ จะกลายเป็น “สันดาน” คือต่อไปไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องฝืน แต่จะทำได้โดยอัตโนมัติ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กางหนังสือสวดมนต์

ต้องกางไปจนตลอดชีวิต

: ขยันท่องจำสักนิด

เพียง 21 วันก็มีสิทธิ์ไม่ต้องกางอีกต่อไป

#บาลีวันละคำ (3,925)

12-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *