บันยะบันยัง (บาลีวันละคำ 2,871)
บันยะบันยัง
ถ้าไม่ระวัง จะถูกลากเข้าวัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บันยะบันยัง : (คำกริยา) รู้จักความพอดี. (คำวิเศษณ์) พอสัณฐานประมาณ, พอสมควร.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “บันยะบันยัง” มาจากภาษาอะไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านข้อความของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านเขียนไว้เมื่อ 11 เมษายน 2563 ความว่าดังนี้
…………..
“การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เบื้องหลังมาจากกรรมร่วมของมนุษยชาติทั่วโลกที่ได้ทำร้ายและทำลายโลกไว้มากมาย เช่น มนุษย์กินอาหารแบบไม่มัญญมัญญัง”
…………..
คำว่า “ไม่มัญญมัญญัง” มีความหมายตรงกับ “ไม่บันยะบันยัง” นั่นเอง แต่เมื่อสะกดเป็น “มัญญมัญญัง” รูปคำก็ต่างไปจากคำไทย แต่ใกล้ไปทางคำบาลี
คำบาลีที่ใกล้กับ “มัญญมัญญัง” คือ “อัญญะมัญญัง” เขียนแบบบาลีเป็น “อญฺญมญฺญํ” อ่านว่า อัน-ยะ-มัน-ยัง โปรดสังเกตว่า จังหวะเสียงเท่ากับ “บันยะบันยัง” พอดี
“อญฺญมญฺญํ” ประกอบด้วยคำว่า “อญญํ” (อัน-ยัง) 2 คำสนธิกัน คือ อญญํ + อญญํ
“อญญํ” รูปคำเดิมเป็น “อญญ” (อัน-ยะ) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ญา (ธาตุ = รู้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน ญฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (น + ญฺ +ญา), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ญา (ญา > ญ)
: น + ญฺ +ญา = นญฺญา > นญฺญ + อ = นญฺญ > อญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาไม่รู้”
“อญฺญ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) อื่น, ไม่เหมือนกัน, ต่างกัน, อันอื่น, คนอื่น (other, not the same, different, another, somebody else)
(2) อีกอันหนึ่ง, ที่สอง (another one, a second)
(3) อื่นอีก, ต่อไป (else, further)
ปกติ “อญฺญ” เป็นคำวิเศษณ์ คือใช้ขยายคำนาม ที่ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนะ” แต่ในที่นี้ “อญฺญ” ใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ (กิริยาวิเสสนะ) จึงแจกด้วยทุติยาวิภัตติ เอกพจน์ ปุงลิงค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ลง อํ-นิคหิต เพื่อให้เป็นกิริยาวิเสสนะ “อญฺญ” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “อญฺญํ” (อัน-ยัง)
อญฺญํ สนธิกับ อญฺญํ แปลงนิคหิตที่ –ญํ บทหน้าเป็น ม
: อญฺญํ > อญฺญม + อญฺญํ = อญฺญมญฺญํ (อัน-ยะ-มัน-ยัง) แปลตามศัพท์ว่า “อื่นและอื่น”
“อญฺญมญฺญํ” ใช้ในความหมายว่า “ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” (reciprocative) คือ ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally)
ตัวอย่างการใช้ “อญฺญมญฺญํ” :
(1) อญฺญมญฺญํ อุปกฺกมนฺติ = ต่างฝ่ายต่างเข้าไปหากัน (approach each other)
(2) อญฺญมญฺญํ ฆาตยึสุ = ฆ่าซึ่งกันและกัน (slew each other)
(3) อญฺญมญญํ เวรํ พนฺธึสุ = “ผูกเวรกันและกัน” คือสร้างความเป็นศัตรูต่อกัน (established mutual enmity)
(4) อญฺญมญฺญํ อจฺจยํ เทเสตฺวา = แสดงโทษล่วงเกินซึ่งกันและกัน, ขอโทษกันและกัน (their mutual mistake)
(5) อญฺญมญฺญํ ปฏิพทฺธจิตฺตา อเหสุํ = มีจิตปฏิพัทธ์ซึ่งกันและกัน, รักกันและกัน (in love with each other)
…………..
ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ มิได้มีความประสงค์จะบอกว่า คำไทย “บันยะบันยัง” มาจากคำบาลีว่า “อญฺญมญฺญํ” แต่ประการใดทั้งสิ้น เพียงแต่ถือโอกาสอาศัยคำไทยเรียนรู้คำบาลีเท่านั้น
แต่ถ้ายังไม่สามารถสืบค้นได้ว่า “บันยะบันยัง” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากคำอะไร จะถือว่า “บันยะบันยัง” มาจาก “อญฺญมญฺญํ” ไปพลางๆ ก่อนก็ได้ จนกว่าโรคโควิด-19 จะสยบซบเซาหรือหายสาบสูญไป ถึงเวลานั้นเราอาจจะสืบค้นได้ความชัดเจน
แต่ถ้ายังสืบไม่ได้ชัดเจนอยู่อีก จะถือว่า “บันยะบันยัง” มาจาก “อญฺญมญฺญํ” เป็นการถาวรไปเลย ก็แล้วแต่จะพิจารณากันเถิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้อยทีถ้อยอาศัย รอดได้ทั้งหมด
: น้ำใจหายหด ม้วยหมดทุกคน
#บาลีวันละคำ (2,871)
22-4-63