บาลีวันละคำ

พงศาวดาร (บาลีวันละคำ 407)

พงศาวดาร

คำนี้ เทียบคำบาลีจะเป็น วํส + อวตาร = วํสาวตาร

: วํส = พงศ, อวตาร = อวดาร, พงศ + อวดาร = พงศาวดาร

วํส” ศัพท์เดิมหมายถึง “ไม้ไผ่” แปลเอาความตามรากศัพท์ว่า “ขยายตัวโดยเกาะเกี่ยวกันออกไป” (นึกถึงธรรมชาติของไผ่)

เมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ “วํส” จึงมีความหมายว่า เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล, ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง, ราชวงศ์

อวตาร” เป็นรูปสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “โอตาร” (โอ-ตา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ข้ามลงมา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “อวตาร” ว่า “การจุติของเทพดา, การเอาร่างของพระวิษณุ

พจน.42 บอกความหมาย “อวตาร” ว่า “แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์)” และบอกความหมายของ “พงศาวดาร” ว่า “เรื่องราวของเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศชาติหรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศชาตินั้น

เรามีคตินิยมว่า พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมาดับเข็ญ เรียกว่า “พระอวตาร” (ตัดมาจาก “พระนารายณ์อวตาร”) จึงเรียกเรื่องราวความเป็นไปของพระมหากษัตริย์ว่า “พงศาวดาร” (โปรดสังเกตว่า เรื่องในพงศาวดารมักจะหนักไปในทางเล่าเหตุวิกฤตของบ้านเมือง ที่พูดถึงเหตุการณ์ยามปกติสุขมีน้อย)

เคยมีนักคิดสมัยใหม่วิจารณ์ว่า –

พงศาวดารมีแต่เรื่องพระมหากษัตริย์ ไม่เห็นมีเรื่องสามัญชน

คงลืมไปว่า :

เราทุกคนมีสิทธิ์เขียนพงศาวดารได้อยู่แล้ว

ชั่ว-ดีที่ทำในวันนี้หรือวันวาน

นั่นแหละพงศาวดารของเราเอง

บาลีวันละคำ (407)

26-6-56

วํส ๑ = เชื้อสาย, ตระกูล, เหล่ากอ (ศัพท์วิเคราะห์)

วโนติ ปตฺถรตีติ วํโส เชื้อสายที่แผ่ออกไป

วน ธาตุ ในความหมายว่าคบหา ส ปัจจัย แปลง น เป็นนิคหิต

วํส ๒ = ไม้ไผ่, ต้นไผ่

วนติ สมฺภตีติ วํโส ไม้ที่คบหากัน คืออยู่รวมกันเป็นกอ

วน ธาตุ ในความหมายว่าคบหา ส ปัจจัย แปลง น เป็นนิคหิต

วสตีติ วํโส ไม้ที่อยู่รวมกัน

วส ธาตุ ในความหมายว่าอยู่ อ ปัจจัย ลงนิคหิตอาคม

โอตาร = ช่อง, ที่ว่าง, ท่าข้าม

อวตรนฺติ เอเตนาติ โอตาโร ที่เป็นเครื่องข้ามลง

อว บทหน้า ตร ธาตุ ในความหมายว่าข้าม ณ ปัจจัย แปลง อว เป็น โอ ทีฆะ อ เป็น อา

อวตาร (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

การจุติของเทพดา, การเอาร่างของพระวิษณุ ฯลฯ

อวตาร

  [อะวะตาน] ก. แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นปลา. (ส.).

วํส (บาลี-อังกฤษ)

๑ ไม้ไผ่ (จุลลนิทเทสว่า “เวฬุคุมฺพ”)

๒ เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล

๓ ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง

๔ ราชวงศ์ (dynasty) (ในคัมภีร์มหาวงศ์)

๕ ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว

๖ กีฬาชนิดหนึ่ง (= เวณุ อุสฺสาเปตฺวา กีฬนํ การเล่นยกไม้ไผ่, ยกไม้ไผ่ขึ้นแล้วเล่น = กายกรรมไต่เสา ?)

โอตาร

๑ จุติคือการเข้าถึง, ใกล้เข้ามา, ( ความหมายเชิงอุปมา คือ โอกาส, จังหวะ, ช่องทาง)

๒ การเข้าถึง, ( ความหมายเชิงอุปมา คือ ความโน้มเอียงไปในทาง-, ความเป็นกันเอง, ความคุ้นเคย, การเข้าใกล้)

๓ แสวงหาอะไรบางอย่าง, สอดแนม, เสาะหา = โทษ, ความผิด, มลทิน หรือการตำหนิข้อบกพร่อง, ช่องโหว่

พงศา

  (กลอน) น. ผู้มีชาติสกุล.

พงศาวดาร

  [-วะดาน] น. เรื่องราวของเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศชาติหรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศชาตินั้น เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์.

พงศาวลี

  [-วะลี] น. แผนลําดับเครือญาติ. (ส.).

พงศาวดาร (สอ เสถบุตร)

lineage, geneology, pedigree; the story of dynasties; (formerly) history,now called ประวัติศาสตร์

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย