สูทกรรม (บาลีวันละคำ 2,872)
สูทกรรม
ไม่ใช่งานของคนใส่สูท
อ่านว่า สู-ทะ-กำ
ประกอบด้วยคำว่า สูท + กรรม
(๑) “สูท”
บาลีอ่านว่า สู-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง; หุง, ต้ม) + ท ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)
: สุ + ท = สุท > สูท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้หลั่งรสออก” (2) “ผู้หุงต้มแกงและกับ”
(2) สุทฺ (ธาตุ = หลั่งออก) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ-(ทฺ) เป็น อู (สุทฺ > สูท)
: สุทฺ + อ = สุท > สูท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หลั่งรสออก”
“สูท” (ปุงลิงค์) หมายถึง พ่อครัว (a cook)
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
สูท + กมฺม = สูทกมฺม (สู-ทะ-กำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “การงานของพ่อครัว”
บาลี “สูทกมฺม” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สูทกรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สูทกรรม : (คำนาม) การทํากับข้าวของกิน. (ส. สูทกรฺมนฺ).”
คำว่า “สูทกรรม” นี้ คนทั่วไปอาจไม่คุ้นหูไม่คุ้นปาก แต่ในหมู่ทหารเรือจะคุ้นเคยเป็นอันดี พอเอ่ยว่า “สูทกรรม” ก็มองเห็นภาพได้ชัดว่าทำงานอะไร
“สูทกรรม” จะเคียงคู่มากับอีกคำหนึ่งคือ “สหโภชน์” (สะ-หะ-โพด) เป็นคำที่ทหารเรือรู้จักกันดี
เรื่องกินเรื่องอยู่นี่ทหารเรือเขาเลิศหรูไปตั้งแต่ถ้อยคำที่ใช้เรียกขานกันนั่นทีเดียวเชียว
…………..
ดูก่อนภราดา!
ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์
เราลงเรือลำเดียวกัน..
: กินด้วยกัน
: อิ่มด้วยกัน
: เหนื่อยด้วยกัน
: อดด้วยกัน
23-4-63