สยามกัมมาจล (บาลีวันละคำ 995)
สยามกัมมาจล
อ่านว่า สะ-หฺยาม-กำ-มา-จน
ประกอบด้วย สยาม + กัมม + อจล
(๑)“สยาม”
เป็นชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482; คำนี้หมายถึง “ของประเทศไทย” ก็ได้
(๒) “กัมม” (กำ-มะ)
บาลีเขียน “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ”
“กมฺม” หรือในที่นี้สะกดว่า “กัมม” เป็นรูปคำบาลี
สันสกฤตเป็น “กรฺม” ภาษาไทยนิยมเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
กมฺม > กัมม > กรรม ในแง่ความหมาย
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
ในที่นี้ “กัมม” หมายถึง การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ
(๓) “อจล” (อะ-จะ-ละ)
รากศัพท์มาจาก น (ไม่, ไม่ใช่) + จลฺ (ธาตุ = สั่น, ไหว) + อ ปัจจัย, แปลง น เป็น อ
: น > อ + จลฺ = อจล + อ = อจล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว” หมายถึง ภูเขา
สยาม + กัมม + อจล = สยามกัมมาจล
(กัมม + อจล เมื่อสนธิกัน ยืดเสียง อะ ที่ อจล เป็น อา)
“สยามกัมมาจล” เป็นชื่อเดิมของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตั้งขึ้นล้อเสียงชื่อในภาษาอังกฤษ: The Siam Commercial Bank (คำเดิมเรียก “แบงก์สยามกัมมาจล”)
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” โดยมีผู้ให้เหตุผลว่า คำว่า “กัมมาจล” แปลว่า “การกระทำไม่เคลื่อนไหว” ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของธนาคารที่มีการหมุนเวียนตลอดเวลา
ความจริง คำว่า “กัมมาจล” แปลเอาความตามรูปศัพท์ว่า ธนาคารที่ “มีกิจการมั่นคงประดุจภูเขา”
“อจล” รากศัพท์เดิมมาจาก “จลติ” (จะ-ละ-ติ) เป็นคำกริยา มีความหมายว่า ไหว, หวั่นไหว, สั่น, ปั่นป่วน, โยกเยก (to move, stir, be agitated, tremble, be confused, waver)
“อจล” จึงมีความหมายตรงข้ามกับ “จลติ” มิได้ใช้ในความหมายว่า หยุดนิ่งไม่ติงไหวตามที่มีผู้เข้าใจ
: ภูเขาไม่หวั่นไหวเพราะแรงลม
: บัณฑิตไม่หวั่นไหวไปตามคำติชม
#บาลีวันละคำ (995)
7-2-58