ประโชติรัตนานุรักษ์ (บาลีวันละคำ 2416)
ประโชติรัตนานุรักษ์
“พระครูประโชติรัตนานุรักษ์”
ไม่ใช่ “พระครูประโชติ รัตนานุรักษ์”
หรือ “พระครู ประโชติ รัตนานุรักษ์”
สังเกตเห็นหรือไม่ว่าต่างกันตรงไหน?
“ประโชติรัตนานุรักษ์” แยกศัพท์เป็น ประโชติ + รัตน + อนุรักษ์
(๑) “ประโชติ” (ปฺระ-โชด)
บาลีเป็น “ปชฺโชติ” (ปัด-โช-ติ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ชฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ป + ชฺ + ชุต), แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต)
: ป + ชฺ + ชุตฺ = ปชฺชุตฺ + อิ = ปชฺชุติ > ปชฺโชติ (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้ายทั่วไป” (2) “ผู้สว่างทั่วทุกทาง” “ผู้รุ่งเรืองทั่วทุกทิศ” หมายถึง แสงสว่าง, แสงเหลืองหรือแสงรุ่งโรจน์, ความสวยสดงดงาม, ตะเกียง (light, lustre, splendour, a lamp)
“ปชฺโชติ” ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประโชติ”
(๒) “รัตน” (รัด-ตะ-นะ)
บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ติ ที่ รติ (รติ > ร)
: รติ + ตนฺ = รติตน + ณ = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้
(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน”
(3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > น)
: รติ + นี = รตินี + อ = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี”
(4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น อะ (รติ > รต), ลบ ช ต้นธาตุ (ชนฺ > น)
: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + อ = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ในภาษาไทยเขียน “รัตน-” (รัด-ตะ-นะ- กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “รัตน์” (รัด) และ “รัตนะ” (รัด-ตะ-นะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัตน-, รัตน์, รัตนะ : (คำนาม) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว; คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว; ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน; ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี. (ป. รตน; ส. รตฺน).”
(๓) “อนุรักษ์” ประกอบด้วย อนุ + รักษ์
(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม”
(ข) “รักษ์”
บาลีเป็น “รกฺข” (รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก รกฺข (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: รกฺข + อ = รกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา”
“รกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คุ้มครอง, ป้องกัน, ระมัดระวัง, เอาใจใส่ (guarding, protecting, watching, taking care)
(2) ปฏิบัติ, รักษา (observing, keeping)
(3) ผู้เพาะปลูก (สติปัญญา) (a cultivator)
(4) ทหารยาม (a sentry, guard, guardian)
อนุ + รกฺข = อนุรกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ตามรักษา”
“อนุรกฺข” ออกจากคำกริยา (ประถมบุรุษ เอกพจน์) ว่า “อนุรกฺขติ” (อะ-นุ-รัก-ขะ-ติ) แปลว่า เฝ้าดู, สอดส่อง, ดูแล (to guard, watch over) อนุรักษ์, อารักขา, ป้องกัน (to preserve, protect, shield)
ยังมีศัพท์ที่ออกจาก “อนุรกฺขติ” อีก ขอนำมาเสนอเพื่อให้เห็นความหมายชัดเจนขึ้น ดังนี้ –
(1) “อนุรกฺขก” (อะ-นุ-รัก-ขะ-กะ) แปลว่า ผู้อนุรักษ์, ผู้รักษา (preserving, keeping up)
(2) “อนุรกฺขณ” (อะ-นุ-รัก-ขะ-นะ) แปลว่า การเฝ้าดูแล, การคุ้มครอง, การอนุรักษ์ (guarding, protection, preservation)
(3) “อนุรกฺขา” (อะ-นุ-รัก-ขา) การเฝ้าดู, การคุ้มครอง, การอนุรักษ์ (guarding, protection, preservation)
“อนุรกฺข” ในบาลีเป็นคำนาม ในภาษาไทยใช้ว่า “อนุรักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนุรักษ-, อนุรักษ์ : (คำกริยา) รักษาให้คงเดิม. (ส.).”
การประสมคำ :
๑ รัตน + อนุรักษ์ = รัตนานุรักษ์ แปลว่า “ตามรักษารัตนะ” หมายถึง ระวัง ดูแล รักษาสิ่งมีค่าอันหมายถึงพระรัตนตรัย
ความหมายเฉพาะในที่นี้ก็คือ “ดูแลรักษาวัดรัตนานุภาพ”
๒ ประโชติ + รัตนานุรักษ์ = ประโชติรัตนานุรักษ์ อ่านว่า ปฺระ-โชด-รัด-ตะ-นา-นุ-รัก แปลว่า “ผู้ดูแลรักษาพระรัตนตรัยอันสุกใสรุ่งเรือง”
ความหมายเฉพาะในที่นี้ก็คือ “ผู้ดูแลรักษาวัดรัตนานุภาพอันรุ่งเรือง”
อภิปราย :
คำว่า “ประโชติรัตนานุรักษ์” เป็นราชทินนามของพระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ระดับ “พระครูสัญญาบัตร” เรียกเป็นชื่อเต็มว่า “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์”
หลักของคำที่เป็นราชทินนามก็คือ เป็นกลุ่มคำเดียวกัน ไม่แยกเป็นคำๆ เช่นในที่นี้ ชื่อ “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” ก็เขียนติดกันไปเป็นกลุ่มคำเดียวกัน
เมื่อ “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” ถึงแก่มรณภาพ สื่อมวลชนทั้งหลายเสนอข่าวกันครึกโครม สื่อประเภทที่ต้องใช้ภาษาเขียน เมื่อเขียนชื่อนี้ มีหลายสำนักที่เขียนแยกคำเป็น —
– “พระครูประโชติ รัตนานุรักษ์”
– “พระครู ประโชติ รัตนานุรักษ์”
การเขียนแยกคำเช่นนี้ อ่านเจตนาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ผู้เขียนเข้าใจไปว่า “ประโชติ” เป็นชื่อ “รัตนานุรักษ์” เป็นนามสกุล
เรื่องแบบนี้ได้มีผู้ทักท้วงและชี้แจงมาโดยตลอด ผู้เขียนบาลีวันละคำเองก็ได้เคยทักท้วงและชี้แจงมาหลายครั้ง
แต่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ผู้รับผิดชอบในการเขียนหนังสือประจำสำนักสื่อทั้งหลายหาได้สำเหนียกตระหนักรู้ถึงความถูก-ผิดไม่ เมื่อจะเขียนนามสมณศักดิ์ของพระภิกษุก็ยังคงเขียนแยกคำไปตามความเข้าใจผิดๆ-ซึ่งก็คือความเขลา-ของตนเองอยู่นั่นแล้ว ประหนึ่งไม่มีตาจะดูและไม่มีหูจะฟังหลักเกณฑ์หลักการที่ถูกต้องเหล่านี้แต่ประการใดทั้งสิ้น
อาจสรุปได้โดยไม่ผิดว่า-นี่คือธรรมชาติอันถาวรของบรรดาสื่อในบ้านเมืองเรา
กล่าวมาทั้งนี้ ขอยกเว้นสื่อที่มีสำนึกและเขียนได้ถูกต้อง-ซึ่งก็พอมีอยู่
สรุปข่าว :
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภออำเภอสุไหงปาดีอีกตำแหน่งหนึ่ง ถึงแก่มรณภาพเนื่องจากถูกคนร้ายยิงในวัดรัตนานุภาพ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562
ภาพประกอบเฉพาะที่เป็นภาพและประวัติย่อเสมือนเป็นบัตรประจำตัวของ “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” มีข้อความที่ควรบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้:
(สะกดตามภาพ)
…………..
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์
ฉายา จนฺทวํโส นามสกุล เวทมาหะ
เกิดวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๔
อายุ ๔๔ พรรษา ๒๒
วิทยฐานะ น.ธ.เอก ปวค.รป.ม
ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ
ที่อยู่ปัจจุบัน วัดรัตนานุภาพ ต.โต๊ะเด็ง
อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๙-๒๙๔-๘๕๙๘, ๐๘๐-๗๗๙๘๕๗๗
คติพจน์ ไม่ตายไม่ขอเลิกทำความดี
…………..
หมายเหตุ:
– ดูตามปีที่ท่านเกิด (พ.ศ.2514) ประวัตินี้น่าจะบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.2558
– ปวค.: ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู
– รป.ม: รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต
…………..
ดูก่อนภราดา!
ปชฺโชตสฺเสว นิพฺพานํ
ปชฺโชเตตฺวาธิวีริยํ.
: ท่านพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ดับไป
: จงยังความกล้าในหัวใจพระไทยให้ลุกโพลงขึ้นเถิด
—————-
(ขอบพระคุณข้อมูลบางส่วนจากพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์)
#บาลีวันละคำ (2,416)
23-1-62