ทีปัญชลี (บาลีวันละคำ 2,877)
ทีปัญชลี
แปลว่า “พนมเทียน”
อ่านว่า ที-ปัน-ชะ-ลี
ประกอบด้วยคำว่า ทีป + อัญชลี
(๑) “ทีป”
อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก ทีปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ทีปฺ + ณ = ทีปณ > ทีป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สว่าง” หมายถึง ดวงประทีป, โคมไฟ, ตะเกียง (a lamp)
“ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึงประทีปหรือตะเกียงแล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้ –
(1) เกาะ, ทวีป (an island, continent)
(2) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma)
(3) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)
(4) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)
(5) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.).
(2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).
แถม :
ในบาลี นอกจากเป็น “ทีป” แล้ว ยังเป็น “ปทีป” อีกรูปหนึ่ง
“ปทีป” (ปะ-ที-ปะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทิปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งโรจน์) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อิ ที่ ทิ-(ปฺ) เป็น อี (ทิปฺ > ทีป)
: ป + ทิปฺ = ปทิปฺ + ณ = ปทิปณ > ปทิป > ปทีป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สว่างไปทั่ว”
“ปทีป” (ปุงลิงค์) หมายถึง –
(1) แสงสว่าง (a light)
(2) ตะเกียง, โคมไฟ (a lamp)
บาลี “ปทีป” สันสกฤตเป็น “ปฺรทีป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“ปฺรทีป : (คำนาม) ‘ประทีป,’ โคมไฟ, ตะเกียง; a lamp.”
“ปทีป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประทีป”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประทีป : (คำนาม) ไฟที่มีเปลวสว่าง (หมายเอาตะเกียง ไฟเทียน เป็นต้น), ตะเกียง, โคม. (ส. ปฺรทีป; ป. ปทีป).”
(๒) “อัญชลี” (อัน-ชะ-ลี)
บาลีเป็น “อญฺชลิ” (อัน-ชะ-ลิ) รากศัพท์มาจาก อญฺชฺ (ธาต = ประกาศ, เปิดเผย; ไป, เป็นไป) + อลิ ปัจจัย
: อญฺชฺ + อลิ = อญฺชลิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาเป็นเครื่องประกาศความภักดี” (2) “กิริยาที่ประกาศความแจ่มแจ้ง” (คือประกาศความฉลาด) (3) “กิริยาที่เป็นไปเพื่อเชื่อมประสานเป็นอันเดียวกัน”
ศัพท์นี้ในบาลีเป็น “อญฺชลี” (-ลี เสียงยาว) เหมือนในภาษาไทยก็มี
“อญฺชลิ – อญฺชลี” หมายถึง การไหว้, ประคองอัญชลี, ยกมือขึ้นประนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการนับถือกัน, บรรจงสิบนิ้วรวมกันเข้าและยกขึ้นถึงศีรษะ (extending, stretching forth, gesture of lifting up the hands as a token of reverence, putting the ten fingers together and raising them to the head)
บาลี “อญฺชลิ” สันสกฤตก็เป็น “อญฺชลิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อญฺชลิ : (คำนาม) การไหว้ (ด้วยหัสต์ทั้งสองอันประณม); อุทกาญชลิหรือน้ำตรวจอุทิศให้แก่ปิตฤ; appropriate salutation (with both hands placed side by side and raised to the forehead); a libation to the manes.”
ในภาษาไทยใช้เป็น “อัญชลี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัญชลี : (คำนาม) การประนมมือ, การไหว้, บางทีใช้เป็น อัญชุลี หรือ ใช้ละว่า ชุลี ก็มี. (ป., ส. อญฺชลิ).”
ทีป + อัญชลี = ทีปัญชลี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีลักณะดุจกระพุ่มมือแห่งเปลวประทีป”
อภิปราย :
“ทีปัญชลี” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นเพื่อเทียบกับนาม “พนมเทียน” โดยถอดคำต่อคำ คือ –
ทีป = เทียน
อัญชลี = พนม
ทีปัญชลี (ที-ปัน-ชะ-ลี) = พนมเทียน
มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า –
๑ “ทีป” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประทีป หรือ a lamp ทั่วไป แต่เล็งความหมายไปที่ “เทียน” (a candle) อันเป็นเครื่องจุดชนิดหนึ่งที่ให้เกิดแสงสว่างเช่นเดียวกับประทีปอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงตัวเทียนหรือเล่มเทียน แต่หมายถึงเฉพาะ “เปลวเทียน” (the flame of a candle)
๒ “อัญชลี” ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึง การประนมมือ หรือมือที่กระพุ่ม หากแต่หมายถึง “ลักษณะของสิ่งที่เป็นพุ่มยอดแหลมอย่างดอกบัวตูม” (ตามคำนิยามคำว่า “พนม” ในพจนานุกรมฯ) ซึ่งในที่นี้หมายถึงเปลวเทียนที่มีลักษณะอย่าง “อัญชลี” และอัญชลีนั้นมีรูปทรงเป็นพุ่มยอดแหลมอย่างดอกบัวตูม
อธิบายดังกล่าวนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำอธิบายของ “พนมเทียน” เองที่เขียนไว้ในหนังสือ ศิวาราตรี (เล่ม ๑) ความว่า —
…………..
คนทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจว่า ผมเอาคำกริยามาผสมกับคำนาม คือเอาเทียนมาใส่มือ แล้วก็พนม ไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะฉะนั้นบางคนมักจะพูดล้อๆ ผมว่า นี่พนมธูปนะ คู่กับพนมเทียน แต่ความจริงพนมเทียนไม่ได้หมายความว่าเอาเทียนมาใส่มือแล้วยกขึ้นพนม หมายถึงเปลวไฟที่ติดอยู่ที่ปลายเทียน ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นเป็นรูปกรวยพุ่งขึ้นไป ตรงกลางป่องอวบ เขาเรียกพนมทั้งนั้น นี่คือที่มาของคำว่าพนมเทียน
…………..
“พนมเทียน” มีนามจริงว่า ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เป็นนักเขียนนามอุโฆษ เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2540
“พนมเทียน” ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 อายุ 89 ปี
28 เมษายน 2563 ครบ 7 วัน บาลีวันละคำขอน้อมคารวะด้วยคำว่า “ทีปัญชลี” อันมีความหมายโดยประสงค์ว่า “พนมเทียน”
อนึ่ง ญาติมิตรท่านใดมีลูกหลาน จะตั้งชื่อว่า “ทีปัญชลี” ผู้เขียนบาลีวันละคำย่อมยินดี ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่ประการใด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พนมเทียนพนมธรรม
จุดประจำอยู่กลางใจ
: เทียนจริงอาจดับไป
แต่เทียนใจอย่าดับจริง
#บาลีวันละคำ (2,877)
28-4-63