บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จาก-“คึกฤทธิ์” เป็น-“คื่อหลี”

——————————-

เมื่อความสามารถมี ก็ควรอ่านให้ถูกต้อง

……………

เรื่องนี้ ท่านอาจารย์ประพันธ์ อุบลธรรม อดีตศึกษานิเทศก์ที่ราชบุรีเล่าให้ผมฟังในโอกาสที่ไปร่วมเป็นกรรมการตัดสินประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ หลายต่อหลายครั้ง

ท่านอาจารย์ประพันธ์เล่าว่า ท่านเคยอ่านข้อเขียนของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนเล่าว่า เคยมีคนเอาชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีไปออกเสียงอ่านคำว่า “คึกฤทธิ์” ให้คนจีนในเมืองจีนฟัง เลือกเอาคนที่มีความรู้ความสามารถในทางอักษรศาสตร์สามารถเขียนและพูดภาษาจีนได้ชัดเจนที่สุด แล้วให้คนจีนคนนั้นออกเสียงตาม เริ่มจากออกเสียงไม่ตรงเพราะลิ้นแข็ง แล้วให้พยายามออกเสียงใหม่ซ้ำๆ จนกระทั่งคนจีนคนนั้นสามารถออกเสียงคำว่า คึก-ริด ได้ชัดตรงที่สุด แล้วจึงขอให้เขียนเสียงคำว่า คึก-ริด เป็นหนังสือจีนให้ตรงตามเสียงที่อ่านชัดแล้วนั้น

ต่อจากนั้นจึงเอาอักษรจีนที่เขียนคำว่า คึก-ริด ไปให้คนจีนที่ไม่เคยได้ยินคำว่า คึก-ริด มาก่อนเลยลองอ่าน

ปรากฏว่าทุกคนอ่านคำนั้นเป็น คื่อ-หลี

ไม่มีใครอ่านว่า คึก-ริด ตามที่คนเขียนตั้งใจ

เสียงพูดจริงพูดว่า คึก-ริด

คนพูดเป็นคนเขียนเอง

แต่คนอ่าน กลับอ่านเป็น คื่อ-หลี

เรื่องนี้ ผู้เล่าต้องการจะบอกว่า อักษรจีนไม่สามารถใช้บันทึกเสียงพูดให้ตรงตามเสียงที่พูดออกมาจริงๆ ได้ทุกเสียง

—————–

ภาษาไทยมีสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์มากพอที่จะใช้บันทึกเสียงพูดของมนุษย์ให้ตรงกับเสียงจริงที่พูดออกมาได้มากที่สุด (แต่ผู้รู้ท่านก็บอกว่า บางเสียงในบางภาษา อักษรไทยก็เขียนให้ตรงกับเสียงที่แท้จริงไม่ได้!)

“บางเสียงในบางภาษา” ที่ว่านี้ไม่ควรจะรวมไปถึงคำว่า “…ปรมินทรมหาภูมิพล…” จนถึง “บรมนาถบพิตร” อันเป็นส่วนหนึ่งในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช (รวมทั้งคำว่า “อดุลยเดช” นี่เองด้วย)

ถ้าให้คนไทยออกเสียงว่า –

(๑) ปะ-ระ-มิน-ทะระ-มะ-หา (เสียง -ทะระ- เขียนจริงว่า -ทฺระ-) 

(๒) อะ-ดุน-ละ-ยะ-เดด 

(๓) บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด 

ผมเชื่อว่าคนที่พูดภาษาไทยได้ตามปกติย่อมจะต้องออกเสียงคำเหล่านี้ได้ชัดทุกคำ

ต่างจากเสียงว่า คึก-ริด ที่คนจีนออกเสียงไม่ได้ เพราะลิ้นแข็ง

แม้ออกเสียงได้ (หลังจากเคี่ยวเข็ญ) แต่พอเอาไปเขียนเป็นหนังสือจีน คึก-ริด ก็กลายเป็น คื่อ-หลี เพราะตัวหนังสือสื่อเสียงไม่ได้

แต่ตัวหนังสือไทยสื่อเสียงคำเหล่านั้นได้ชัด และลิ้นคนไทยก็ไม่แข็ง จึงสามารถอ่านออกเสียงคำเหล่านั้นได้ชัดทุกคำ

—————–

พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชนั้น ราชบัณฑิตยสภาบอกว่า สามารถอ่านได้ ๓ แบบ รายละเอียดตามภาพที่นำมาประกอบเรื่องนี้

น่าสังเกตว่า เอกสารตอบข้อสงสัยของประชาชนของสำนักงานราชบัณฑิตยสภานั้นไม่ได้เอ่ยถึงการอ่านตามแบบของอาลักษณ์ที่ปรากฏในวีดิทัศน์ที่มีผู้นำมาเผยแพร่เป็นหลักฐานด้วยเลย

การอ่านพระปรมาภิไธยตามแบบของอาลักษณ์ดังที่อ้างถึงนี้มาจากพระราชพิธีประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๙ คือเมื่อ ๒๐ ปีมาแล้ว

เป็นไปได้ไหมว่า ตัวบุคคลผู้กำหนดคำอ่านพระปรมาภิไธยตามแบบของราชบัณฑิตยฯ จะไม่เคยได้ยินคำอ่านพระปรมาภิไธยของอาลักษณ์มาก่อน?

ถ้าเคยได้ยินมาก่อนแล้ว ก็ควรมีข้อสงสัยของประชาชนอีกข้อหนึ่งว่า ทำไมจึงไม่กำหนดคำอ่านตามแบบที่อาลักษณ์อ่าน?

พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์นั้นเป็นงานในความรับผิดชอบของอาลักษณ์ ตั้งแต่คิดพระนามขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย การเขียน การจารึก และการอ่าน 

ถ้าพูดตามหลักที่ว่า ชื่อบุคคล จะเขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ขึ้นอยู่กับเจ้าของชื่อ 

ก็ต้องพูดว่า พระปรมาภิไธย จะเขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ขึ้นอยู่กับอาลักษณ์

ถ้าไม่เขียนไม่อ่านตามอาลักษณ์แล้ว ก็เป็นอันอยู่นอกเหนือความสงสัยของประชาชน

ขอประทานโทษ ถ้าพูดตามสำนวนชาวบ้านก็ต้องว่า-ก็ไม่รู้จะมีอาลักษณ์ไว้ทำไม

แต่ถึงอย่างไรก็ควรจะต้องขอบพระคุณสำนักงานราชบัณฑิตยฯ ที่ท่านกรุณาบอกแนวทางการอ่านไว้ถึง ๓ ทาง คือช่วยให้ประชาชนมีทางเลือก 

อุปมาเหมือนเอาสิ่งของมาวางให้เราเลือกถึง ๓ ชิ้น

เพียงแต่ว่า มีอีกชิ้นหนึ่งที่ท่านอาจจะลืมเอามาวางไว้ด้วย แต่เมื่อเราเห็นว่าเป็นชิ้นวิเศษกว่าชิ้นอื่นใด และเป็นชิ้นที่สมควรเลือกขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระผู้ทรงเป็นบุคคลพิเศษให้เสมอกัน เราก็น่าจะเลือกเอาชิ้นนั้น ซึ่งก็มิได้เป็นการผิดหลักการของสำนักงานราชบัณฑิตยฯ ที่ให้มีสิทธิ์เลือกเอาได้ แต่ประการใด

อุปมาเหมือน-เมื่อเราสามารถออกเสียงคำว่า คึก-ริด ได้ชัดๆ ตรงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องออกเสียงว่า คื่อ-หลี ตามคนที่ออกเสียงไม่ชัดเพราะลิ้นแข็ง ฉันใดก็ฉันนั้น

ผมจึงขออนุญาตเอาลิงก์คำอ่านพระปรมาภิไธยของอาลักษณ์ดังที่อ้างข้างต้นมาเสนอไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง 

——————-

อาลักษณ์อ่านพระปรมาภิไธย

——————-

ขอให้ญาติมิตรทั้งปวงตั้งมนสิการช่วยกันฟังให้ดีๆ เมื่อจะพูดจะอ่านเองจะได้อ่านได้ถูกต้อง 

และถ้าสามารถ ก็ขอแนะนำให้บันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อที่ว่าในอนาคตกาล หากมีผู้ชักชวนให้อ่านพระปรมาภิไธยยักเยื้องวิปริตผิดไปจากนี้ จะได้นำเอาออกมาเป็นพยานยืนยันให้มั่นคง จงทั่วกันเทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *