อนุโมทนคาถา (อนุโมทนคาถา)บาลีวันละคำ (2,882)
อนุโมทนคาถา
คาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้า
อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ-คา-ถา
ประกอบด้วยคำว่า อนุโมทน + คาถา
(๑) “อนุโมทน” ประกอบด้วย อนุ + มุทฺ + ยุ
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท)
: อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี”
“อนุโมทน” มีคำขยายความดังนี้ –
(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”
(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”
(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”
(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า –
“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)
(๒) “คาถา”
รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ถ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: คา + ถ = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)
ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์
คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน
“คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง
ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ
เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”
จะเห็นว่าในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด
เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด
อนุโมทน + คาถา = อนุโมทนคาถา แปลว่า “คำร้อยกรองเพื่อการอนุโมทนา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทนคาถา” ว่า verses expressing thanks, benediction (อนุโมทนาคาถา, คำให้พร)
ขยายความ :
คำว่า “อนุโมทนคาถา” เป็นชื่อเรียกคาถาอำนวยพรหรือคำสนองความปรารถนาที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวแก่บุรุษคนหนึ่ง
เรื่องย่อว่า สมัยที่โลกว่างศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งไปบิณฑบาตในเมืองแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีใครใส่บาตร จึงถือบาตรเปล่าเดินออกจากเมือง อิสรชนคนหนึ่งพบท่านที่ประตูเมือง เกิดศรัทธาจะถวายภัตตาหาร จึงขอให้ท่านรออยู่ที่นั่นก่อน ตนเองรีบกลับไปบ้าน เห็นว่าอาหารมีพร้อมแล้วจึงสั่งคนใช้ให้รีบไปรับบาตรมาจากพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้บาตรมาแล้วใส่ภัตตาหารเต็มบาตรแล้วให้นำกลับไปถวาย เนื่องจากเวลาจวนจะใกล้เที่ยงจึงสั่งให้คนใช้รีบวิ่งไปวิ่งมา คนใช้วิ่งไปวิ่งมาทั้งเหนื่อยทั้งร้อน เมื่อถวายบาตรแล้วจึงตั้งความปรารถนาขอให้เกิดมามีเดชานุภาพเหมือนแสงอาทิตย์ และมีพาหนะที่มีฝีเท้าเร็วยอดเยี่ยม พระปัจเจกพุทธเจ้าพิจารณาเห็นว่าความปรารถนานั้นอยู่ในวิสัยที่จะสำเร็จได้ จึงอนุโมทนาเป็นคาถาสนองความปรารถนา
คาถานั้นว่าดังนี้ –
…………..
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง
ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา
จันโท ปัณณะระโส ยะถา.
ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว
จงสำเร็จโดยฉับพลัน
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่
เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง
ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา
มะณิ โชติระโส ยะถา.
ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว
จงสำเร็จโดยฉับพลัน
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่
เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี
…………..
คนใช้นั้นเกิดชาติใดๆ ก็เรืองเดชานุภาพและมีพาหนะฝีเท้าเร็วสมปรารถนา ในชาติปัจจุบัน คือ พระเจ้าจัณฑปัชโชต กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงอุชเชนีในสมัยพุทธกาล
จึงเรียกคาถา 2 บทนี้ว่า คาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือ “อนุโมทนคาถา”
พระสงฆ์ไทยใช้เป็นคาถาอนุโมทนาในมงคลพิธีทั้งปวงมาจนบัดนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
การอนุโมทนาในความดีของผู้อื่นเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของท่าน
จะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนาก็ขึ้นอยู่กับท่าน –
: จะอนุโมทนาทุกเรื่องที่ถูกต้อง
: หรือจะคอยจ้องเฉพาะเรื่องที่ถูกใจ
#บาลีวันละคำ (2,882)
3-5-63