บาลีวันละคำ

วิทูรทัศนา (บาลีวันละคำ 2,881)

วิทูรทัศนา

เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร

อ่านว่า วิ-ทูน-ทัด-สะ-นา

ประกอบด้วยคำว่า วิทูร + ทัศนา

(๑) “วิทูร

บาลีอ่านว่า วิ-ทู-ระ แยกศัพท์เป็น วิ + ทูร

(ก) “วิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน

(ข) “ทูร” (ทู– สระ อู) อ่านว่า ทู-ระ รากศัพท์มาจาก ทุ (คำอุปสรรค = ยาก, ลำบาก) + อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือ (ทุ + อรฺ : ทุ อยู่หน้า อรฺ อยู่หลัง) ลบ อะ ที่ อรฺ (อรฺ > ) ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)

: ทุ + อรฺ = ทุร > ทูร + = ทูร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล (far, distant, remote)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทูร– : (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ไกล เช่น ทูรบถ ทูรมรรคา ว่า ทางยาว, ทางไกล. (ป.).”

วิ + ทูร = วิทูร (วิ-ทู-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ไกลอย่างพิเศษ” หมายถึง ไกล, ห่างไกล, ระยะยาว (far, remote, distant)

โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ “ทูร” กับ “วิทูร” แปลเหมือนกัน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิทูร” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) วิทูร ๑ : (คำวิเศษณ์) ฉลาด, คงแก่เรียน, มีปัญญา, ชํานาญ. (ป., ส. วิทุร).

(2) วิทูร ๒ : (คำวิเศษณ์) ไกล, ห่าง, พ้นออกไป. (ป., ส.).

วิทูร” ในที่นี้เป็น “วิทูร” ตามข้อ (2) คือ “วิทูร ๒”

(๒) “ทัศนา

บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –

(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)

(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)

ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”

คำนี้บาลีปกติเป็นนปุงสกลิงค์ คือเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) ไม่ใช่ “ทสฺสนา” (ทัด-สะ-นา) แต่ในบางกรณีอาจเติม อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์เพื่อทำให้เป็นอิตถีลิงค์ได้บ้าง

วิทูร + ทสฺสน = วิทูรทสฺสน (วิ-ทู-ระ-ทัด-สะ-นะ) แปลว่า “การมองไปในที่ไกล” หรือ “การเห็นได้ไกล” หมายถึง สถานที่ซึ่งจากที่นั่นสามารถมองเห็นไปได้ไกล

วิทูรทสฺสน” แปลงรูปโดยประสงค์เป็น “วิทูรทัศนา

อภิปรายขยายความ :

วิทูรทัศนา” เป็นชื่อหอแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังบางปะอิน

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563 เวลา 20:30) อธิบายไว้ดังนี้

…………..

หอวิฑูรทัศนา ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรและพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในพระราชวังบางปะอิน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2424 พร้อมทั้งได้พระราชทานนามหอนี้ว่า “หอวิฑูรทัศนา” ใช้สำหรับเป็นที่เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรภูมิประเทศโดยรอบของพระราชวัง กล่าวกันว่าเมื่อแรกสร้างนั้น ยังมองเห็นช้างป่าเป็นโขลง ๆ เดินอยู่ตามชายทุ่ง หรือถ้าขึ้นไปดูในช่วงฤดูทำนาก็จะเห็นความงามของทุ่งนาในช่วงต่าง ๆ จนมีคำกล่าวว่า “ดูนาที่ไหนเล่า ไม่เท่าที่บางปะอิน”

หอวิฑูรทัศนามีความสูง 30 เมตร ลักษณะเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น 12 เหลี่ยม ยอดหอคอยคลุมด้วยหลังคารูปครึ่งวงกลม มีสถาปัตยกรรมผสมผสานของยุโรป ตัวอาคารทาสีแดงสลับเหลือง ภายในมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นบน 112 ขั้น โดยแบ่งเป็น จากพื้นชั่นล่างขึ้นไปยังชั้นที่ 1 จำนวน 18 ขั้น จากชั้นที่ 1 ขึ้นไปยังชั้นที่ 2 จำนวน 55 ขั้น และจากชั้นที่ 2 ขึ้นไปยังชั้นที่ 3 จำนวน 39 ขั้น

…………..

โปรดสังเกตว่า วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี สะกดคำนี้เป็น “วิฑูรทัศนา” คือ “วิฑูร” ใช้ มณโฑ

วิฑูร” ฑ มณโฑ ดูเหมือนจะให้เข้าใจว่าเป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำ “วิฑูร” ฑ มณโฑ แต่มี “วิทูร” ท ทหาร เหมือนบาลี เก็บไว้ถึง 5 คำ ดังนี้

(1) วิทูร : (คำวิเศษณ์) ฉลาด; wise, intelligent.

(2) วิทูร : (คำนาม) กามาสักต์, ผู้หนักในกาม; ผู้คงแก่เรียน; a libertine; a learned man.

(3) วิทูร : (คำนาม) พระอนุชาของท้าวธริตราษฎร์; the younger brother of Dhritarāshṭra.

(4) วิทูร : (คำวิเศษณ์) ไกลมาก; very far or remote.

(5) วิทูร : (คำนาม) ชื่อบรรพต; the name of a mountain.

ความหมายที่ตรงกันกับบาลีคือ “วิทูร” ในข้อ (4)

เป็นอันว่า ตามหลักภาษา ถ้าประสงค์จะให้มีความหมายว่า- “สถานที่ซึ่งจากที่นั่นสามารถมองเห็นไปได้ไกล” ตามที่ประสงค์ ชื่อนี้ควรสะกดเป็น “วิทูรทัศนา

แต่เนื่องจากคำนี้เป็นวิสามานยนาม (proper name) ดังนั้น จะสะกดอย่างไรจึงต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้ง ซึ่งต้องพิสูจน์กันด้วยเอกสารหลักฐานที่เป็นต้นเรื่องต้นฉบับ ตลอดจนที่ปรับปรุงแก้ไขในกาลต่อมา (ถ้ามี)

ขณะที่เขียนคำนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่มีหลักฐานในมือ ดังนั้น ที่เขียนคำนี้สะกดเป็น “วิทูรทัศนา” จึงพึงทราบว่าเป็นการสะกดตามหลักภาษา ส่วนคำจริงๆ ก็ต้องสะกดไปตามหลักฐานดังที่กล่าวแล้ว

ญาติมิตรท่านใดมีหลักฐานใกล้มือ ถ้าจะกรุณานำเสนอ ก็จะเป็นองค์ความรู้ร่วมกันของชาวเรา

อนึ่ง คำนี้บอกคำอ่านว่า วิ-ทูน-ทัด-สะ-นา ก็เป็นการอนุวัตรตามที่ปรากฏคำที่สะกดเป็นอักษรโรมันว่า WITHUN THASANA TOWER

ถ้าอ่านตามหลักภาษา ก็ควรอ่านว่า วิ-ทู-ระ-ทัด-สะ-นา ซึ่งฟังเสียงออกจะขลุกขลักอยู่สักหน่อย ไม่รื่นปากเหมือน วิ-ทูน-ทัด-สะ-นา

อนึ่ง ภายในพระราชวังบางปะอินยังมีพระที่นั่งองค์อื่นอีก คือ “พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์” และ “พระที่นั่งเวหาศจำรูญ” ซึ่งมีนามรับสัมผัสคล้องจองกัน (-อาสน์– กับ –หาศ-) ถ้าเอา “หอวิทูรทัศนา” มารับต่อ ชื่อนี้ก็ต้องอ่านว่า วิ-ทูน-ทัด-สะ-นา เพราะเสียง –ทูน– บังคับให้รับสัมผัสกับ -จำรูญ อยู่ในตัว

ได้คติว่า เวลาคิดเรื่องอะไร ต้องมองไกลรอบด้าน

…………..

ดูก่อนภราดา!

เวลาเห็นใครตัดสินใจทำอะไรไม่ตรงกับที่เราคิด

อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าเขาผิดทุกกรณีไป เพราะ –

: บางกระทงเขาอาจรู้ไม่เท่ากับที่เรารู้

: แต่บางกระทู้เรานั่นแหละที่อาจรู้ไม่เท่าเขา

#บาลีวันละคำ (2,881)

2-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย