บาลีวันละคำ

หนฺท มยํ (บาลีวันละคำ 2,883)

หนฺท มยํ

ถ้าสวดตามลำพังก็ไม่ต้อง “หัน-”

อ่านว่า หัน-ทะ มะ-ยัง

เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “หนฺท” คำหนึ่ง “มยํ” คำหนึ่ง

(๑) “หนฺท

เขียนแบบไทยเป็น “หันทะ” อ่านว่า หัน-ทะ เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” บาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรียกว่า “นิบาตบอกความเตือน” นิบาตในกลุ่มนี้มี 3 คำ นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า –

อิงฺฆ (อิง-คะ) = เชิญเถิด”

หนฺท (หัน-ทะ) = เอาเถิด”

ตคฺฆ (ตัก-คะ) = เอาเถิด”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “หนฺท” เป็น an exhortative-emphatic particle (นิบาตบอกความเชื้อเชิญ) และแปลไว้ว่า well then, now, come along, alas! (ยังไงล่ะ, เอาละ, มาซี, เชิญเถอะ)

(๒) “มยํ

เขียนแบบไทยเป็น “มะยัง” อ่านว่า มะ-ยัง เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มยํ” (มะ-ยัง) แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค

มยํ” เป็นพหูพจน์ ถ้าเป็นเอกพจน์เปลี่ยนรูปเป็น “อหํ” (อะ-หัง)

เทียบคำอังกฤษ :

มยํ” = We

อหํ” = I

หนฺท มยํ” ไม่ใช่คำเดียวกัน แต่เป็นคำ 2 คำที่เอามาพูดควบกัน แปลโดยพยัญชนะว่า “เอาเถิด อันว่าเราทั้งหลาย …” แปลโดยอรรถว่า “เชิญเถิดพวกเรา …” หรือแปลแบบภาษาพูดว่า “เอ้า พวกเรา …” และมีคำบอกกล่าวให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อไปอีก เช่น –

“เอ้า พวกเรา ไปกันเถอะ”

“เอ้า พวกเรา มากินข้าวกันก่อน”

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “หนฺท มยํ” นี้ ท่านที่นิมสวดมนต์ย่อมจะคุ้นกันดี เพราะเป็นคำที่ปรากฏอยู่ต้นบทสวดมนต์ต่างๆ กล่าวคือ ก่อนจะถึงตัวบทสวดมนต์ จะมีคำว่า “หนฺท มยํ…..” ต่อด้วยคำบาลีที่เป็นคำบอกชื่อบทสวดนั้นๆ เช่น –

(๑) ก่อนจะขึ้นบท นะโม ขึ้น “หนฺท มยํ…..” ว่า –

“หันทะ  มะยัง  พุทธัสสะ  ภะคะวะโต  ปุพพะภาคะนะมะการัง  กะโรมะ  เส” (เชิญเถิด พวกเราจงกระทำการนมัสการอันเป็นส่วนเบื้องต้นแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ากันเถิด)

(๒) ก่อนจะขึ้นบทสรรเสริญพุทธคุณตอนทำวัตรเช้า (โย โส  ตะถาคะโต …) ขึ้น “หนฺท มยํ…..” ว่า –

“หันทะ มะยัง  พุทธาภิถุติง  กะโรมะ  เส” (เชิญเถิด พวกเราจงกระทำการสรรเสริญคุณพระพุทธองค์กันเถิด)

(๓) ก่อนจะขึ้นบท “พุทโธ  สุสุทโธ …” ในบททำวัตรเช้า ขึ้น “หนฺท มยํ…..” ว่า –

“หันทะ มะยัง  ระตะนัตตะยัปปะณามะคาถาโย  เจวะ  สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐัญจะ  ภะณามะ  เส” (เชิญเถิด พวกเราจงสวดคาถานอบน้อมพระรัตนตรัย และพระบาลีอันกำหนดความสังเวชกันเถิด)

(๔) ก่อนจะขึ้นบทเจริญอาการ 32 ขึ้น “หนฺท มยํ…..” ว่า –

“หันทะ มะยัง  ท๎วัตติงสาการะปาฐัง  ภะณามะ  เส” (เชิญเถิด พวกเราจงสวดพระบาลีอันว่าด้วยอาการ 32 กันเถิด)

คำว่า “หนฺท มยํ…..” นี้ คนเก่าท่านเรียกว่า “คำนัด” มีความหมายว่า เป็นคำที่บอกการนัดหมายในหมู่พวกที่ร่วมกันสวดมนต์ว่า ต่อไปนี้จะสวดบทอะไร

ถ้าเทียบกับที่นิยมทำกันทุกวันนี้ก็คือ การที่ผู้นำสวดมนต์ (ซึ่งใช้วิธีกางหนังสืออ่าน) พูดบอกขึ้นว่า “ต่อไปขอให้เปิดไปที่หน้า 15 บทพาหุงนะคะ” – ทำนองนี้

ดังนั้น คำว่า “หนฺท มยํ…..” จึงสวดเฉพาะเมื่อมีคนร่วมสวดด้วยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป กรณีที่สวดคนเดียวไม่ต้องขึ้นคำว่า “หนฺท มยํ…..” คือไม่ต้องนัดหมายอะไรกับใคร เพราะมีเราคนเดียว

คำว่า “มยํ” แปลว่า “เราทั้งหลาย” หรือ “พวกเรา” ก็เป็นคำบังคับอยู่แล้วในตัว เมื่อมีเราคนเดียว ก็มี “มยํ” ไม่ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยแอบได้ยินผู้ที่นิยมสวดมนต์ ท่านสวดคนเดียวโดยวิธีกางหนังสืออ่าน พอถึงคำ “หนฺท มยํ…..” ท่านก็อ่าน “หนฺท มยํ…..” ตามนั้นไปทุกตัวอักษร ฟังแล้วก็รู้สึกแปลกดี เหมือนได้ยินคนพูดกับตัวเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนที่พูดกับตัวเองได้มี 2 จำพวก

: หนึ่งคือคนบ้า

(คือคนไม่มีสติปัญญาใดๆ เหลืออยู่ในตัวเอง)

: สองคือคนกล้า

(คือคนมีสติปัญญาแก่กล้าสามารถพิจารณาตัวด้วยตัวเองได้)

#บาลีวันละคำ (2,883)

4-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย