บาลีวันละคำ

สุทินนัง วะตะ เม ทานัง (บาลีวันละคำ 2,889)

สุทินนัง วะตะ เม ทานัง

ถ้าไม่เรียนหลัก ก็ต้องรักที่จะจำเป็นคำๆ ไป

…………..

เมื่อบำเพ็ญบุญถวายทานเสร็จ มักจะมีผู้รู้แนะนำให้อธิษฐานหรือตั้งความปรารถนา คำตั้งความปรารถนาแบบหนึ่งเป็นภาษาบาลีขึ้นต้นว่า “สุทินนัง …”

คำตั้งความปรารถนาดังว่านี้ ผู้ฝักใฝ่ในทางบุญมัก “ว่าได้” กันโดยมาก แต่ถ้าให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็มักจะเขียนผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันโดยมากเช่นกัน

คำตั้งความปรารถนาที่ขึ้นต้นว่า “สุทินนัง …” มีข้อความเต็มๆ ที่เขียนถูกต้องเป็นดังนี้

เขียนแบบบาลี:

(๑) สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ โหตุ.

(๒) สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ.

เขียนแบบคำอ่าน:

(๑) สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ.

(๒) สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ.

แปลเป็นคำๆ:

(1) สุทินนัง = (ทาน) อันถวายดีแล้ว (คือของที่ถวายนั้นได้มาโดยชอบธรรม ถวายด้วยจิตอันเป็นกุศล ในเนื้อนาบุญคือผู้รับที่เป็นผู้บริสุทธิ์)

(2) วะตะ = หนอ (เป็นคำเสริม = ถวายดีแล้วหนอ)

(3) เม = แก่ข้าพเจ้า บางทีแปลว่า “อันข้าพเจ้า (ถวายดีแล้ว)

(4) ทานัง = ทาน, การถวาย, ของที่ถวาย, การให้

(5) อาสะวักขะยาวะหัง = เป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ (อาสว = กิเลสที่หมักหมมอยู่ในใจ + ขย = ความสิ้นไป + อาวห = นำมา, พามา, ทำให้เกิด)

(6) นิพพานะปัจจะโย = เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน, เป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน

(7) โหตุ = จงเป็น

แปลรวมความ:

(๑) ทานที่ถวายดีแล้ว (นี้) จงเป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสอาสวะแก่ข้าพเจ้า

(๒) ทานที่ถวายดีแล้ว (นี้) จงเป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสอาสวะแก่ข้าพเจ้า จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานเทอญ

อภิปราย:

เดิมทีเดียวได้ยินว่ากันแค่ “สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ.” (ตามข้อ ๑) ซึ่งก็ได้ความสมบูรณ์ดีแล้ว

ต่อมา มีผู้หวังดีเติมคำว่า “นิพพานะปัจจะโย” เข้าไปอีก จึงเป็น “สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ.” (ตามข้อ ๒)

อันที่จริง “อาสะวักขะยาวะหัง” กับ “นิพพานะปัจจะโย” มีความหมายเท่ากัน

สิ้นอาสวะ” ก็คือ “นิพพาน

นิพพาน” ก็คือ “สิ้นอาสวะ

แต่มองในแง่ดีก็ดี คือเติมมาเพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น

เนื่องจากคนไทยส่วนมากไม่รู้หลักภาษาบาลี เวลากล่าวคำบาลี ออกเสียงผิดบ้างถูกบ้างก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มักจะมีคำที่สะกดผิด แบ่งวรรคตอนผิด แยกคำผิด ที่ต้องแยกกลับไปเขียนติดกัน ที่ต้องติดกันกลับไปแยก (ภาษาบาลีเขียนแยกเป็นคำๆ แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ) ปรากฏให้เห็นทั่วไป (ดูภาพประกอบ)

คาถาอาคมที่คนไทยนิยม “เล่น” กัน ทำไมบทเดียวกันแท้ๆ จึงท่องต่างเขียนต่างอุตลุตไปหมด – ก็มาจากสาเหตุเดียวกันนี้ คือท่องได้สวดได้ แต่เขียนไม่ถนัด เพราะไม่รู้หลักภาษา

ทางแก้ก็คือต้องเรียนบาลี แต่ทางนี้แก้ยากเพราะคนส่วนมากไม่มีอุตสาหะที่จะเรียน

จึงเหลืออีกทางเดียว คือต้องจำเป็นคำๆ ไป

อย่างกรณีคำอธิษฐานหรือตั้งความปรารถนาหลังจากถวายทานนี้ ก็ให้จำเป็นคำๆ ไป ดังที่แสดงมาให้ดู เวลาจะเขียนก็ให้จำไว้ว่าสะกดอย่างนี้ เว้นวรรคอย่างนี้

พอไปเรื่องอื่นคำอื่น ก็ตั้งต้นจำใหม่อีกเป็นคำๆ ไป

วิธีนี้เหนื่อยหน่อย แต่ก็ดีกว่าพูดผิดเขียนผิดโดยไม่คิดจะแก้ไขอะไรเลย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พูดผิด อาจมีคนช่วยสะกิดให้พูดใหม่

: แต่ถ้าคิดผิดอยู่ในใจ จะรอให้ใครมาสะกิดคุณ?

#บาลีวันละคำ (2,889)

10-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย