วัปปมงคล (บาลีวันละคำ 2,890)
วัปปมงคล
ไม่คุ้นคำ แต่น่าจะคุ้นพิธี
อ่านว่า วับ-ปะ-มง-คน
ประกอบด้วยคำว่า วัปป + มงคล
(๑) “วัปป”
เขียนแบบบาลีเป็น “วปฺป” อ่านว่า วับ-ปะ รากศัพท์มาจาก วปฺ (ธาตุ = ไถ, หว่าน, เพาะปลูก) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ แล้วแปลง ย เป็น ป (ณฺย > ย > ป)
: วปฺ + ณฺย = วปณฺย > วปฺย > วปฺป แปลตามศัพท์ว่า (1) “การไถ” “การหว่าน” (2) “ที่เป็นที่เพาะปลูก” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง การไถ, การหว่าน; ที่ดินที่พึงหว่านพืช (ploughing, sowing; soil to be sown on)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัปป-, วัปปะ : (คำนาม) การหว่านพืช เช่น พิธีวัปปมงคล; ฝั่งน้ำ. (ป. วป ว่า ผู้หว่านพืช; ส. วปฺร ว่า ฝั่งน้ำ ทุ่งที่หว่านพืชไว้ ทุ่ง).”
(๒) “มงคล”
บาลีเป็น “มงฺคล” (มีจุดใต้ งฺ) อ่านว่า มัง-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ ม-(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > มค)
: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์”
(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า อ ปัจจัย : ลุ > ล)
: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + อ = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว”
“มงฺคล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)
(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)
“มงฺคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มงคล, มงคล– : (คำนาม) เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล ๓๘, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย, เรียกงานที่จัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด ว่า งานมงคล; เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล; สิ่งที่ทำเป็นวงด้วยด้ายเป็นต้นสำหรับสวมศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล นิยมใช้เฉพาะในเวลาชกมวยไทยหรือตีกระบี่กระบอง. (ป., ส.).”
วปฺป + มงฺคล = วปฺปมงฺคล (วับ-ปะ-มัง-คะ-ละ) แปลว่า “การมงคลเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืช”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วปฺปมงฺคล” ว่า ploughing festival (เทศกาลแรกนา, พิธีแรกนา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “แรกนา” ไว้ว่า –
“แรกนา, แรกนาขวัญ : (คำนาม) ชื่อพิธีเริ่มไถนา, ถ้าทําเป็นทางราชการ เรียกว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, แต่โดยทั่วไปมักเรียกว่า พระราชพิธีแรกนา หรือ พระราชพิธีแรกนาขวัญ.”
พิธีแรกนานี่เองที่เรามักเรียกกันว่า “พืชมงคล” อันที่จริง “พืชมงคล” เป็นพิธีสงฆ์ ทำก่อนวันแรกนา ส่วนแรกนาคือพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ คือการลงมือไถนา
การลงมือไถนาหรือ “แรกนา” นี่แหละที่ภาษาบาลีใช้คำว่า “วปฺปมงฺคล”
อภิปรายขยายความ :
ธรรมเนียมชาวนาไทย-โดยเฉพาะชาวนาแถบภาคกลางที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยสัมผัสมาในช่วงหนึ่งของชีวิต-เมื่อถึงฤดูกาลทำนา จะเริ่มต้นด้วยพิธี “แรกนา”
คำว่า “แรก” หมายถึง เริ่มต้น “แรกนา” ก็คือเริ่มต้นทำนาประจำฤดูกาลนั้น
พิธี “แรกนา” ที่ชาวบ้านทำกันเป็นพิธีง่ายๆ คือเลือกวันที่เป็นวันธงชัยหรือวันอธิบดีตามประกาศสงกรานต์ของโหรหลวง เมื่อถึงวันนั้นก็แบกไถจูงวัวไปที่นาแปลงที่จะใช้ทำพิธีแต่เช้า มีกระทงเครื่องเซ่นสังเวยใส่ข้าวสุกและกับข้าวพร้อมทั้งผลไม้ตามแต่หาได้ไปวางไว้ที่คันนา เป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางให้รับรู้ว่าจะเริ่มทำนาประจำปีนี้แล้ว จากนั้นก็ลงมือไถนา โดยไถเป็นวงกลมกลางนาแปลงนั้น 3 รอบ
เสร็จพิธีเพียงเท่านี้
ปกติแล้ววันที่ทำพิธีแรกนาจะยังไม่ลงมือไถนาทำนาจริง ทำเพียงเป็นพิธีเพื่อบอกกล่าวเท่านั้น ต่อวันรุ่งขึ้นจึงจะลงมือไถทำเป็นการเป็นงานจริง
สมัยก่อน การทำนาใช้แรงวัวควายไถนา และมีหลักในการใช้งาน คือไถตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเพลก็หยุด ปลดวัวให้พักโดยอาบน้ำให้วัวเนื้อตัวสะอาด หาหญ้าหาฟางให้กินให้อิ่ม และให้พักตลอดวัน จนถึงเช้ามืดวันรุ่งขึ้นจึงเริ่มใช้งานใหม่
วันโกนและวันพระหยุดใช้งาน นี่เองคือที่มาของสำนวนไทยที่ว่า “วันโกนไม่ละวันพระไม่เว้น” ซึ่งหมายถึงการทำอะไรที่ไม่มีเว้นแม้เมื่อถึงเวลาที่ควรหยุดควรเว้น
จะลงมือทำอะไรก็บอกกล่าว “เจ้าที่เจ้าทาง” ก่อน เป็นการแสดงออกถึงความมีสัมมาคารวะ การเลี้ยงดูวัวควายอย่างดีและหยุดใช้แรงงานในวันโกนวันพระ เป็นการสำนึกถึงบุญคุณ นอกจากนี้ยังมีการกระทำในขั้นตอนอื่นๆ เช่นการไหว้แม่โพสพซึ่งถือว่าเป็นเทพธิดาประจำข้าว การให้ความสำคัญแก่เมล็ดข้าว แม้เมื่อหุงเป็นข้าวสุกแล้วก็ไม่เหยียบย่ำ บางคนกินข้าวอิ่มแล้วยกมือไหว้แม่โพสพเป็นการขอบคุณเป็นต้น
เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งเด็กไทยรุ่นหลังนับวันจะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ จนถึงอาจมองเห็นเป็นความงมงายไร้สาระ เพราะไม่มีประสบการณ์เหมือนคนรุ่นเก่า อีกทั้งขาดการศึกษาสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
หวังว่าในอนาคต คงไม่ต้องให้ฝรั่งมาสอนวัฒนธรรมการทำนาให้คนไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
การมีสัมมาคารวะและการรู้จักบุญคุณของสิ่งที่อาศัยเลี้ยงชีพ –
: มนุษย์ที่เจริญแล้วเท่านั้นที่รู้จักคิด
: สัตว์เดรัจฉานทุกชนิดคิดไม่เป็น
#บาลีวันละคำ (2,890) 11-5-63