ประติมานวิทยา (บาลีวันละคำ 4,323)
ประติมานวิทยา
วิชาอะไรใครรู้บ้าง
อ่านตามหลักภาษาว่า ปฺระ-ติ-มา-นะ-วิด-ทะ-ยา
แต่น่าจะมีคนอยากอ่านตามสะดวกปากว่า ปฺระ-ติ-มาน-วิด-ทะ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า ประติมาน + วิทยา
(๑) “ประติมาน”
เป็นรูปคำสันสกฤต อ่านตามสันสกฤตว่า ปฺระ-ติ-มา-นะ ในภาษาไทยถ้าใช้โดด ๆ ไม่มีคำอื่นมาต่อท้าย อ่านว่า ปฺระ-ติ-มาน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรติมาน” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรติมาน : (คำนาม) ‘ประติมาน,’ ความแม้น, ประติมา, ประติรูป; ภาคศีร์ษะช้างระหว่างงา; a resemblance, a picture, an image or idol; the part of an elephant’s head between the tusks.”
คำว่า “ประติมาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
สันสกฤต “ปฺรติมาน” บาลีเป็น “ปฏิมา” อ่านว่า ปะ-ติ-มา รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + มา (ธาตุ = นับ) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปฏิ + มา = ปฏิมา + อ = ปฏิม + อา = ปฏิมา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เทียบกันโดยเฉพาะ” หมายถึง รูปจำลอง, รูปเปรียบ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิมา” ว่า counterpart, image, figure (รูปที่เปรียบกันได้, รูปเหมือน, รูปจำลอง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปฏิมา” “ปฏิมากร” บอกไว้ว่า –
“ปฏิมา, ปฏิมากร : (คำนาม) รูปเปรียบหรือรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูป, เรียกย่อมาจาก พุทธปฏิมา หรือ พุทธปฏิมากร. (ป. ปฏิมา).”
ตามพจนานุกรมฯ “ปฏิมา” ในภาษาไทยมีความหมายเฉพาะ คือหมายถึงรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูป
(๒) “วิทยา”
บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์บาลี คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต
“วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ช ออกตัวหนึ่ง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”
“วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ”
“สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺป–ศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย
“วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”
ประติมาน + วิทยา = ประติมานวิทยา แปลตามศัพท์ว่า “วิชาว่าด้วยรูปที่เปรียบกันได้”
“รูปที่เปรียบกันได้” ในที่นี้ ในวงกว้างหมายถึง รูปคนรูปสัตว์เป็นต้น ที่ทำขึ้นไม่ว่าจะด้วยกรรมวิธีหรือวิธีการใด ๆ เช่น ปั้น หล่อ แกะ สลัก วาด เขียน เป็นต้น อันแสดงให้รู้ว่าคนหรือสัตว์นั้นคือใครหรือคือตัวอะไร
“ประติมานวิทยา” จึงหมายถึง ความรู้อันว่าด้วยรูปเช่นว่านั้น ตั้งแต่ความรู้ในวิธีการหรือเทคนิคในการทำขึ้น ไปจนถึงความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าในทางต่าง ๆ ของรูปนั้น
ความหมายของ “ประติมานวิทยา” ตามที่ว่ามานี้ เป็นความหมายตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำ ซึ่งอาจไม่ถูกต้อง
เนื่องจากคำว่า “ประติมานวิทยา” เป็นศัพท์บัญญัติ ดังนั้น ความหมายที่ถูกต้องจะเป็นประการใด จึงต้องให้นักวิชาการผู้บัญญัติศัพท์นี้เป็นผู้อธิบาย
ผู้เขียนบาลีวันละคำค้นหาในศัพท์บัญญัติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ไม่พบคำว่า “ประติมานวิทยา”
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี มีคำว่า “ประติมานวิทยา” (อ่านเมื่อ 13 เมษายน 2567 เวลา 20:30 น.) มีข้อความดังนี้ –
…………..
ประติมานวิทยา (อังกฤษ: Iconography) เป็นสาขาหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เป็นการศึกษาประวัติ, คำบรรยาย และ การตีความหมายของเนื้อหาของภาพ คำว่า “Iconography” แปลตรงตัวว่า “การเขียนรูปลักษณ์” (Image Writing) ที่มีรากมาจากภาษากรีกโบราณ “εἰκών” ที่แปลว่า “รูปลักษณ์” และคำว่า “γράφειν” ที่แปลว่า “เขียน” ความหมายรองลงมาคืองานประติมา (Icon) ในไบแซนไทน์และออร์โธด็อกซ์ของประเพณีนิยมคริสเตียน ในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ประติมานวิทยาก็ยังอาจจะหมายถึงกรรมวิธีการแสดงหัวเรื่องในรูปแบบของการใช้รูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในเนื้อหาของภาพที่ออกมาให้ผู้ชมได้เห็น นอกจากนั้นประติมานวิทยาก็ยังใช้ในด้านสาขาวิชาอื่นนอกไปจากประวัติศาสตร์ศิลป์เช่นในวิชาสัญญาณศาสตร์ และ media studies, และในการใช้โดยทั่วไปที่หมายถึงลักษณะรูปลักษณ์ที่ใช้กันเป็นสามัญของหัวเรื่องหรือความหมายในทำนองเดียวกัน
…………..
ขอเชิญญาติมิตรที่เข้าใจเรื่อง “ประติมานวิทยา” เข้ามาช่วยบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกันต่อไป และขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ยากที่จะรู้หน้า
: แต่ยากนักหนาที่จะรู้ใจ
#บาลีวันละคำ (4,323)
13-4-67
…………………………….
…………………………….