คุณสมบัติของผู้ให้ (บาลีวันละคำ 2,891)
คุณสมบัติของผู้ให้
เรียนธรรมะจากบาลีกันอีกสักวัน
…………..
ในภาษาบาลี เรามักพบวลีหรือกลุ่มคำที่เป็นชุดของเรื่องนั้นๆ เช่นถ้ากล่าวถึง “การกระทำที่มีผลดีมาก” ก็จะนิยมใช้คำว่า “มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส” นั่นคือถ้ามีคำว่า “มหปฺผโล” (มีผลมาก) ก็จะต้องมีคำว่า “มหานิสํโส” (มีอานิสงส์มาก) ควบกันด้วยเสมอไป
มีกลุ่มคำชุดหนึ่ง เป็นคำแสดง “คุณสมบัติของผู้ให้” หมายความว่า ผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในทาน-การให้ จะต้องมีลักษณะ มีบุคลิก หรือมีอารมณ์ประจำใจอย่างไร
ชุดของคำที่แสดงถึง “คุณสมบัติของผู้ให้” มีดังนี้
(๑) มุตฺตจาโค (มุด-ตะ-จา-โค) “ผู้มีการสละขาด”
หมายถึง เมื่อให้แล้วสละแล้วก็ปล่อยมือเด็ดขาด ไม่ตามไปดู ไม่ตามไปตั้งเงื่อนไขอะไรอีก บางคนใส่บาตรหรือถวายอาหารพระแล้ว ยังตามไปดูว่าพระท่านฉันของเราหรือเปล่า ถวายของใช้ก็ยังตามไปถามว่าท่านใช้ของอิฉันหรือยัง สร้างกุฏิถวายวัดแล้วยังตามไปตั้งเงื่อนไขว่า ให้อยู่ได้เฉพาะท่านเจ้าคุณองค์นี้ ท่านมหาองค์โน้นห้ามอยู่ อย่างนี้คือขาดคุณสมบัติ “มุตฺตจาโค”
(๒) ปยตปาณี (ปะ-ยะ-ตะ-ปา-นี) “มีมืออันล้างสะอาด”
ตามปกติ เวลาใครจะให้อะไรใครก็ต้องใช้มือหยิบยื่นให้ ถ้าเป็นอาหารหรือของกินก็ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะหยิบจับส่งให้ การล้างมือให้สะอาดไว้เสมอจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่พร้อมจะให้อยู่ตลอดเวลา
(๓) โวสฺสคฺครโต (โวด-สัก-คะ-ระโต) “ยินดีที่จะเสียสละให้”
หมายถึง พอใจเต็มใจที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นเสมอ ไม่หวงไว้เฉพาะตัวเอง
(๔) ยาจโยโค (ยา-จะ-โย-โค) “ผู้ควรแก่การขอ”
หมายถึง มีลักษณะชวนให้เข้าไปหาแล้วเอ่ยปากขอสิ่งที่ต้องการได้ เพราะพร้อมจะสนองความต้องการของผู้ขออยู่เสมอ (บางคนอย่าว่าแต่จะให้ขออะไรเลย ให้เข้าไปหายังไม่อยากเข้า)
(๕) ทานสํวิภาครโต (ทา-นะ-สัง-วิ-พา-คะ-ระ-โต) “ยินดีในการให้และการแบ่งปันแจกจ่าย”
หมายถึง พอใจเต็มใจที่จะให้ทั้งการให้เป็นส่วนบุคคล (ทาน) และการให้แก่หมู่คณะ ให้แก่สังคมเป็นส่วนรวม (สํวิภาค) บางคนพอใจจะให้แก่บุคคลเป็นส่วนตัว ไม่ชอบให้แก่ส่วนรวม บางคนชอบให้แก่ส่วนรวม แต่ไม่ชอบให้แก่ตัวบุคคล แต่ “ทานสํวิภาครโต” นี้เต็มใจเต็มที่ทั้งสองแบบ
ที่มา: เทวสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 906
ทั้ง 5 คำนี้นิยมพูดเป็นชุด คือเมื่อพูดคำที่ 1 แล้ว คำที่ 2 ที่ 3 ก็จะตามมาเป็นชุดเสมอ เป็นหลักนิยมอย่างหนึ่งในภาษาบาลี
นำเสนอเป็นบาลีวันละคำพอให้รู้ความหมายเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ผู้สนใจด้านภาษา พึงฝึกแยกศัพท์และค้นหาคำแปล ผู้สนใจด้านธรรมะ พึงศึกษาคำอธิบายขยายความโดยละเอียดต่อไปอีก
…………..
น ทเท เจ ปริคฺคาโห
ททํ เจ น ปริคฺคเห.
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าหวง อย่าให้
: ถ้าให้ อย่าหวง
#บาลีวันละคำ (2,891)
12-5-63