นานา ทำไมจึงไม่เขียน “นาๆ” (บาลีวันละคำ 2,892)
นานา ทำไมจึงไม่เขียน “นาๆ”
“นานา” อ่านตรงตัวเหมือนภาษาไทยว่า นา-นา เป็นคำจำพวก “นิบาต” (ลักษณะเฉพาะของนิบาตคือ คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย) แปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) หมายถึง ต่างๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley; variously, differently, all kinds of)
คำไข :
“นานา” มีความหมายว่าอย่างไร คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 521 ไขความไว้ว่า “นานา” มีความหมายเท่ากับ วิวิธํ, อญฺโญญฺญํ, ปุถุ, น เอกํ
(1) วิวิธํ (วิ-วิ-ทัง) = หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed)
(2) อญฺโญญฺญํ (อัน-โยน-ยัง) = แปลตามตัวว่า “อื่นและอื่น” หมายถึง ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally)
(3) ปุถุ (ปุ-ถุ) = มากมาย, หลายอย่าง, ต่างๆ (numerous, various, several, more, many, most)
(4) น เอกํ (นะ เอ-กัง) = แปลตามตัวว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” หมายถึง มาก, ต่างๆ กัน; นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (“not one”, many, various; countless, numberless)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นานา : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ. (ป.).”
ทำไมจึงมักมีผู้เขียนคำนี้เป็น “นา ๆ” คือ นา + ไม้ยมก?
ตอบได้ว่า เพราะใช้แนวเทียบผิด กล่าวคือ ในภาษาไทยมีคำจำพวกหนึ่งที่เราพูดซ้ำกัน 2 ครั้ง เช่น “ค่ำค่ำ” “เช้าเช้า” “เบาเบา” “แรงแรง” “เร็วเร็ว” “ช้าช้า” “เบื่อเบื่ออยากอยาก”
คำจำพวกนี้เวลาเขียน เราใช้ไม้ยมกแทนคำที่ 2 คือเขียนคำแรกแล้วใช้ไม้ยมกตามหลัง เป็น “ค่ำ ๆ” “เช้า ๆ” “เบา ๆ” “แรง ๆ” “เร็ว ๆ” “ช้า ๆ” “เบื่อ ๆ อยาก ๆ”
ไม้ยมกนั้นเดิมก็คือเลข ๒ ไทย ทำหน้าที่บังคับให้อ่านคำแรก 2 ครั้ง เช่นเขียนว่า “ค่ำ ๒” เราไม่อ่านว่า “ค่ำ-สอง” แต่อ่านว่า “ค่ำ-ค่ำ”
เราเข้าใจอย่างนี้กันทั่วไปจนเป็นหลักการอย่างหนึ่ง ดังนั้น พอมาได้ยินคำว่า “นานา” เราก็ใช้หลักการเดิมเป็นแนวเทียบ เขียนเป็น “นา ๆ” เพราะไม่เข้าใจว่าคำนี้ไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำบาลี และคำเดิมในบาลีไม่มีไม้ยมก แต่เขียนเป็น นา + นา = นานา ดังนั้น คำนี้จึงเขียนเป็น “นา ๆ” ไม่ได้ แต่ต้องเขียนเป็น “นานา”
เราส่วนมากมักอ้างว่าเป็นเพราะความเคยชินกับวิธีเขียนคำไทย จึงทำให้เขียนคำนี้ผิด
วิธีแก้ไขก็คือ เปิดใจรับหลักการใหม่ของภาษาบาลี และยอมรับหลักการนั้นจนเป็นความเคยเชิน
ขอให้ลองเทียบกับคำว่า “ฟอร์ด” ซึ่งเรานิยมอ่านออกเสียงว่า ฝอด
เราเขียนคำไทยว่า กอด ขอด จอด …
พอมาถึง “ฟอร์ด” ทำไมเราไม่เขียนเป็น “ฝอด” เหมือนคำไทยที่เราเคยชิน?
ก็เพราะใจเราเปิดรับข้อมูลว่า คำนี้เป็นภาษาอังกฤษ สะกดว่า Ford และถอดเป็นอักษรไทยว่า “ฟอร์ด” แต่นิยมอ่านออกเสียงว่า ฝอด
เมื่อเปิดใจรับเช่นนี้ เราก็จึงไม่เขียนเป็น “ฝอด” ตามเสียงอ่าน แต่เขียนตามหลักการว่า “ฟอร์ด”
ที่ว่ามานี้มีอุปมาฉันใด
การเขียนคำว่า “นานา” ก็มีอุปไมยฉันนั้น
อย่าเทียบกับคำไทย
แต่เปิดใจยอมรับหลักการของบาลี
เราก็จะเขียนไม่ผิด
และไม่ต้องอ้างอีกต่อไปว่า-เขียนผิดเพราะความเคยชิน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าอ้างว่าทำผิดเพราะความเคยชิน
: ก็เท่ากับยอมรับว่า เราสามารถฝึกทำให้ถูกจนเคยชินได้เช่นกัน
#บาลีวันละคำ (2,892)
13-5-63