บาลีวันละคำ

จริยธรรม-ธรรมจริยา (บาลีวันละคำ 428)

จริยธรรม-ธรรมจริยา

ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ จริย + ธรรม

จริย” มาจากรากศัพท์ว่า จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย (บางท่านว่าลง ณฺย ปัจจัย ลบ ลง อิ อาคม ไม่ทีฆะต้นธาตุตามอำนาจของปัจจัยเนื่องด้วย ) = จริย (เป็น จริยา ก็มี) แปลว่า “-ที่ควรประพฤติ

ธมฺม” มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ต้นปัจจัย = ธมฺม แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” และแปลทับศัพท์ว่า ธรรม ความหมายรวบยอดของ “ธรรม” ก็คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี (ดูคำแปลอย่างละเอียดที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

จริย + ธรรม = จริยธรรม (จะ-ริ-ยะ-ทำ) พจน.42 ให้ความหมายว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” เป็นการให้ความหมายตามบัญญัติสมัยปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ “จริยธรรม” เป็นคำแปลสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics

ถ้าเอา “ธรรม” ไว้หน้า เอา “จริยา” ไว้หลัง ก็จะเป็น “ธรรมจริยา” (ทำ-มะ-จะ-ริ-ยา) พจน.42 ให้ความหมายว่า “การประพฤติเป็นธรรม, การประพฤติถูกธรรม

ในมงคลสูตร มีมงคลข้อหนึ่งว่า “ธมฺมจริยา” รูปคำตรงกับ “ธรรมจริยา” ท่านให้ความหมายว่า ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม (righteous conduct)

เราเคยมี “วิชาศีลธรรม” สอนในโรงเรียน แต่ต่อมาถูกถอดออกไป แล้วกลับมาใหม่ในนาม “วิชาจริยธรรม

ศีลธรรม” มีกฎที่ชัดเจนว่า อะไรคือศีล อะไรคือธรรรม อย่างไรผิด และอย่างไรถูก

ส่วน “จริยธรรม” มีความหมายไม่ตายตัว เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มคนตีความเข้าข้างตัวเองได้ง่าย เช่นอ้างว่า “การกระทำเช่นนี้ ข้าพเจ้าถือว่าไม่ผิดจริยธรรมของข้าพเจ้าหรือของพวกข้าพเจ้า”

: ถ้าขาดศีลธรรมเป็นรากฐาน จริยธรรมของคนพาลก็เบ่งบานเต็มเมือง

บาลีวันละคำ (428)

17-7-56

“ธมฺม – ธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น (บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

จริยา (นปุง.จริย อิต.จริยา) (บาลี-อังกฤษ)

ความประพฤติ, จริยา, สถานะแห่งความเป็นอยู่ conduct, behaviour, state of, life of.

ธมฺมจริยา, พฺรหฺมจริยา การดำเนินชีวิตในทางดี, ความประพฤติอันเหมาะสม, การประพฤติพรหมจรรย์ a good walk of life, proper conduct, chastity

จริย นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

จริยา, จรรยา, ความประพฤติ, การท่องเที่ยวไป.

จริยา อิต.

จริยา, จรรยา, ความประพฤติ

จริยธรรม (ประมวลศัพท์)

“ธรรมคือความประพฤติ”, “ธรรมคือการดำเนินชีวิต”, หลักความประพฤติ, หลักการดำเนินชีวิต; 1. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม หรือกฎศีลธรรม (ความหมายตามบัญญัติสมัยปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ จริยธรรม เป็นคำแปลสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics) 2. จริยะ (หรือ จริยธรรม) อันประเสริฐ เรียกว่า พรหมจริยะ (พรหมจริยธรรม หรือ พรหมจรรย์) แปลว่า “ความประพฤติอันประเสริฐ” หรือ การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา; เทียบ ศีลธรรม

จริยา

ความประพฤติ, การครองตน, การดำเนินชีวิต, ลักษณะความประพฤติหรือการแสดงออกที่เป็นพื้นประจำตัว

ธรรม (ประมวลศัพท์)

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

จริย-

  [จะริยะ-] น. ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคำสมาส เช่น จริยศึกษา. (ป.).

จริยธรรม

  น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม.

จริยวัตร, จริยาวัตร

  น. หน้าที่ที่พึงประพฤติปฏิบัติ; ความประพฤติ ท่วงทีวาจา และกิริยามารยาท.

จริยศาสตร์

  น. ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ แสวงหาเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูกไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควร และพิจารณาปัญหาเรื่องสถานภาพของค่าทางศีลธรรม. (อ. ethics).

จริยศึกษา

  น. การศึกษาเกี่ยวกับความเจริญงอกงามในทางความประพฤติและการปฏิบัติตน เพื่อให้อยู่ในแนวทางของศีลธรรมและวัฒนธรรม. (อ. moral education).

จริยา

  [จะ-] น. ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคําสมาส เช่น ธรรมจริยา.

ธรรมจริยา

  น. การประพฤติเป็นธรรม, การประพฤติถูกธรรม. (ส. ธรฺม + ป. จริยา).

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ ๙๖

 [96] พุทธจริยา 3 (พระจริยา หรือการทรงบำเพ็ญประโยชน์ ของพระพุทธเจ้า — the Buddha’s conduct, functions or services)

       1. โลกัตถจริยา (พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก — conduct for the well-being of the world)

       2. ญาตัตถจริยา (พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระญาติตามฐานะ — conduct for the benefit of his relatives)

       3. พุทธัตถจริยา (พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ตามหน้าที่ของพระพุทธเจ้า — beneficial conduct as functions of the Buddha)

       ใน 3 อย่างนี้ โลกัตถจริยามาในพระไตรปิฎก (ขุ.จู. 30/667/322; ขุ.ปฏิ. 31/449/329; 715/615) สองอย่างหลังมาในอรรถกถา.

AA.I.98;

DhA.III.441.  องฺ.อ. 1/104;

ธ.อ. 7/93.

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ ๓๕๓ หน้า ๒๗๕

       คาถาที่ 5
       15. ทานญฺจ (รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ — charity; liberality; generosity)
       16. ธมฺมจริยา จ (ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม — righteous conduct)
       17. ญาตกานญฺจ สงฺคโห (สงเคราะห์ญาติ — rendering aid to relations)
       18. อนวชฺชานิ กมฺมานิ (การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย — blameless actions; unexceptionable or beneficial activities)
ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น การสมาทานอุโบสถ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน เป็นต้น (ขุทฺทก.อ. 156; KhA.141)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย