บาลีวันละคำ

อิริยาปถ (บาลีวันละคำ 39)

อิริยาปถ

อ่านว่า อิ-ริ-ยา-ปะ-ถะ

ภาษาไทยเอามาใช้ เขียนว่า “อิริยาบถ” อ่านว่า อิ-ริ-ยา-บด

อิริยาปถ มาจากคำว่า อิริยา + ปถ = อิริยาปถ > อิริยาบถ

อิริยา แปลว่า อาการเคลื่อนไหว

ปถ (บถ) แปลว่า ทาง

อิริยาบถ แปลตามศัพท์ว่า “ทางแห่งการเคลื่อนไหว

หมายถึงอาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

คำนี้มักพูดผิดและเขียนผิดเป็น อิริยาบท อิริยบท อริยบท

บางคนพูดผิดเป็น กิริยาบท ก็มี

แต่ละคำมีความหมายคนละอย่างกับ “อิริยาบถ” ทั้งสิ้น

บถ ( ถุง สะกด) แปลว่า ทาง (path, road, way)

บท ( ทหาร สะกด) แปลว่า เท้า (foot, step)

อิริยา ไม่ใช่ อริยา ไม่ใช่ อิริย และไม่ใช่ อริย

อิริยาบถ ถุง สะกด ไม่ใช่ ทหาร

บาลีวันละคำ (39)

11-6-55

คำอธิบาย ตัวอย่าง ข้อมูล

“นั่งกันมานานพอสมควรแล้ว ขอเชิญออกไปผลัดเปลี่ยนอริยบทตามอัธยาศัยสัก ๑๕ นาทีนะครับ ”

คำว่า “อริยบท” ในข้อความนี้เป็นคำผิดทับซ้อน

คำที่ถูกต้องในความหมายที่ต้องการพูดคือ “อิริยาบถ” (อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน)

“ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ” แปลว่า เปลี่ยนจากท่าหนึ่งไปเป็นอีกท่าหนึ่ง เช่นจากท่านั่งเป็นยืน หรือเดิน อย่างที่พูดว่า ยืดเส้นยืดสาย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยขบจากการที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน

คำว่า “อริยบท” ในข้อความนี้จึงเป็นคำผิดทับซ้อน

ผิดซ้อนแรก คือ เขียน “-บถ” เป็น “-บท”

พอได้ยินเสียงว่า “บด” เป็นต้องใช้ ท ทหาร สะกด ตามความถนัดมือ

อิริยาบถ กลายเป็น อิริยาบท

ผิดซ้อนที่ 2 คือ อิริยา- เขียนเป็น อริยา- (อาจเพราะไม่คุ้นกับเสียง อิริ-)

ผิดซ้อนที่ 3 จาก อริยา- ยังหดเสียงลงมาเป็น อริย- เข้าอีก

เบ็ดเสร็จแล้ว อิริยาบถ ก็กลายเป็น อริยบท เป็นอีกคำหนึ่งไปเลย

อริยบท แปลตามศัพท์ว่า “ทางของพระอริยะ” หรือ “ทางอันประเสริฐ” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ต้องการจะพูด เป็นคำที่พูดผิดเขียนผิด จากคำถูกคือ “อิริยาบถ”

แต่เมื่อผิดเป็น “อริยบท” เข้าแล้ว เกิดเป็นคำที่มีความหมายขึ้นมา แต่ความหมายนั้นก็ไม่ใช่ความหมายที่ต้องการจะพูด จึงเป็นการใช้คำผิดความหมายอีกลักษณะหนึ่ง

อิริยาบถ

  น. อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน. (ป.). (พจน.๔๒)

อิริยาบถ

 “ทางแห่งการเคลื่อนไหว”, ท่าทางที่ร่างกายจะเป็นไป, ท่าที่เคลื่อนไหวตั้งวางร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง, อิริยาบถหลักมี ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน, อิริยาบถย่อย เรียกว่า จุณณิยอิริยาบถ หรือ   จุณณิกอิริยาบถ ได้แก่ ท่าที่แปรเปลี่ยนยักย้ายไประหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น (พจน.พุทธศาสน์)

อริย-, อริยะ  [อะริยะ-] น. ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล.ว. เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ

อิริยา  น. อาการเคลื่อนไหว, กิริยา, ท่าทาง. (ป.; ส. อีรฺยา).

ปท foot เท้า step การก้าว on foot เดิน

ปาท

ปถ path หนทาง road ถนน way ทาง

บถ (แบบ) น. ทาง เช่น กรรมบถ. (ป. ปถ)

บท ๒, บท- ๒ (แบบ) เท้า, รอยเท้า, เช่น จตุบท, ในบทกลอนใช้ประสมกับคําอื่น ๆ หมายความว่า เท้า คือ บทบงกช บทบงสุ์ บทมาลย์ บทรัช บทศรี บทเรศ, (ดูคําแปลที่คํานั้น ๆ). (ป. ปท).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย