บาลีวันละคำ

ปาราชิก [2] (บาลีวันละคำ 2,896)

ปาราชิก [2]

ภาษาไทยอ่านว่า ปา-รา-ชิก

บาลีอ่านว่า ปา-รา-ชิ-กะ

ปาราชิก” รากศัพท์มาจาก ปรา (ปะ-รา คำอุปสรรค = กลับความ) ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะ อะ ที่ -(รา) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ปรา > ปารา)

: ปรา + ชิ = ปราชิ + ณฺวุ = ปราชิณฺวุ > ปราชิก > ปาราชิก

ข้างต้นบอกไว้ว่า “ปรา” คำอุปสรรคมีความหมายว่า “กลับความ” หมายถึง กลับความหมายของธาตุ ในที่นี้ คือ “ชิ” (ชิ-ธาตุ) ซึ่งมีความหมายว่า “ชนะ” แต่เมื่อมี “ปรา” มาประกอบเข้าข้างหน้าเป็น “ปราชิ” จึง “กลับความ” เป็นตรงกันข้าม จาก “ชนะ” กลับเป็น “พ่ายแพ้

ดังนั้น “ปาราชิก” จึงแปลตามศัพท์ว่า “ผู้พ่ายแพ้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาราชิก” ว่า one who has committed a grave transgression of the rules for bhikkhus; one who merits expulsion (ผู้ละเมิดกฎของภิกษุซึ่งมีโทษอย่างมหันต์; ผู้ซึ่งควรถูกขับไล่)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาราชิก : (คำนาม) ชื่ออาบัติหนักที่สุดในพระวินัย เมื่อภิกษุล่วงละเมิดแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที บวชเป็นภิกษุอีกไม่ได้ มี ๔ ข้อ คือ ๑. เสพเมถุน ๒. ลักทรัพย์ ๓. ฆ่ามนุษย์ ๔. อวดอุตริมนุสธรรม. (คำวิเศษณ์) ผู้ละเมิดอาบัติปาราชิก เช่น พระปาราชิก. (ป.).”

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เขียนบทความเรื่องหนึ่ง เอ่ยถึงคำว่า “จตุตถปาราชิก” มีญาติมิตรถามในเชิงท้วงว่า คำว่า “ปาราชิก” นั้นพอเดาได้ว่าหมายถึงอาบัติหนักของพระ แต่คำว่า “จตุตถปาราชิก” ผู้อ่านทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรว่า หมายถึงปาราชิกอะไร หรือปาราชิกแบบไหน คำว่า “จตุตถ” เป็นคำศัพท์ บางคนอาจพอเดาได้ว่า-แปลว่า 4 หรือ ลำดับที่ 4 เมื่อรวมกันเป็น “จตุตถปาราชิก” แปลว่า ปาราชิกที่ 4 ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเองว่า “ปาราชิกที่ 4” คืออะไร จึงน่าจะมีคำอธิบายด้วย

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาทำความเข้าใจจึงนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ

หลักความรู้คือ คำว่า ปาราชิก” เป็นชื่ออาบัติที่มีโทษร้ายแรงที่สุด ทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดต้องพ่ายแพ้จากสมณเพศ คือความเป็นภิกษุสิ้นสุดลงทันทีที่ทำความผิดสำเร็จ ไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือกล่าวโทษหรือไม่ก็ตาม มีทั้งหมด 4 สิกขาบท คือ –

(1) เสพเมถุน (ร่วมเพศกับคนหรือสัตว์) เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า “ปฐมปาราชิก” (ปะ-ถม-มะ-ปา-รา-ชิก) แปลว่า “ปาราชิกสิกขาบทที่หนึ่ง

(2) ลักทรัพย์ เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า “ทุติยปาราชิก” (ทุ-ติ-ยะ-ปา-รา-ชิก) แปลว่า “ปาราชิกสิกขาบทที่สอง

(3) ฆ่ามนุษย์ เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า “ตติยปาราชิก” (ตะ-ติ-ยะ-ปา-รา-ชิก) แปลว่า “ปาราชิกสิกขาบทที่สาม

(4) อวดอุตริมนุสธรรม คือพูดบอกหรือแสดงตนว่าได้บรรลุมรรคผล เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า “จตุตถปาราชิก” (จะ-ตุด-ถะ-ปา-รา-ชิก) แปลว่า “ปาราชิกสิกขาบทที่สี่

เนื่องจากปาราชิกมีเพียง 4 สิกขาบท หรือพูดเทียบกับกฎหมายทางบ้านเมืองก็คือมีเพียง 4 มาตรา เมื่อศึกษาเข้าใจแล้วก็จะรู้ได้ไม่ยากว่ามาตราไหนว่าด้วยเรื่องอะไร

ดังนั้น เมื่อจะเอ่ยถึงการกระทำความผิดใน 4 มาตรานี้ เพียงแค่บอกว่า “มาตราที่เท่าไร” ก็ย่อมจะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าเป็นความผิดว่าด้วยเรื่องอะไรโดยไม่ต้องระบุลักษณะของความผิด

เรื่องนี้เทียบได้กับคำว่า “ม.17” สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “ม.44” ในสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งพอเอ่ยคำว่า “ม.17” หรือ “ม.44” เพียงเท่านี้ คนทั่วไปก็เข้าใจกันดีว่าหมายถึงหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจทำอะไรที่เด็ดขาดได้ทันที ฉันใด

ผู้ศึกษาหลักพระธรรมวินัย พอเอ่ยคำว่า “จตุตถปาราชิก” ก็ย่อมเข้าใจได้ทันทีว่า หมายถึงอาบัติปาราชิกอันว่าด้วยการอวดอุตริมนุสธรรม แม้ปาราชิกอีก 3 ข้อ คือ “ปฐมปาราชิก” “ทุติยปาราชิก” และ “ตติยปาราชิก” เอ่ยเพียงหัวข้อแค่นี้ก็ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อไหนว่าด้วยเรื่องอะไร ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้อสำคัญจึงอยู่ที่-ต้องศึกษาหาความรู้เตรียมไว้ก่อน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าชนะใจตน

: ท่านจะเป็นคนที่ไม่แพ้ใคร

#บาลีวันละคำ (2,896)

17-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย