บาลีวันละคำ

อายุเวมัตตะ (บาลีวันละคำ 2,895)

อายุเวมัตตะ

พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์อายุเท่าไร

อ่านว่า อา-ยุ-เว-มัด-ตะ

ประกอบด้วยคำว่า อายุ + เวมัตตะ

(๑) “อายุ

รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : + อุ : > อย + อุ = อยุ)

: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”

(๒) “เวมัตตะ

เขียนแบบบาลีเป็น “เวมตฺต” (เว-มัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ มา (มา > ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา > + ตฺ + )

: วิ + มา = วิมา > วิม + ตฺ + = วิมตฺต > เวมตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนดแตกต่างกัน” หมายถึง ความแตกต่าง, การแตกต่างกัน (difference, distinction)

บาลี “เวมตฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “เวมัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เวมัต : (คำนาม) ความต่าง, ความแปลกไป. (ป. เวมตฺต).”

อายุ + เวมตฺต = อายุเวมตฺต เขียนแบบไทยตามประสงค์เป็น “อายุเวมัตตะ” แปลว่า “ความแตกต่างกันแห่งอายุ

อภิปราย :

เวมัตตะ” คือเรื่องที่เป็นความแตกต่างของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ แสดงไว้ว่ามี 8 เรื่อง หรือ 8 เวมัตตะ ในที่นี้ขอนำมาแสดงเพียงเวมัตตะเดียว คือ “อายุเวมัตตะ” =ความแตกต่างกันแห่งอายุ

คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี หน้า 538-539 แสดงเรื่อง “อายุเวมัตตะ” คือพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ แต่ละพระองค์มีพระชนมายุเท่าไร สรุปได้ดังนี้

…………..

พระพุทธเจ้า 9 พระองค์เหล่านี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระปทุมุตตระ พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี พระสิทธัตถะ พระติสสะ มีพระชนมายุแสนปี

พระพุทธเจ้า 8 พระองค์เหล่านี้ คือ พระมังคละ พระสุมนะ พระโสภิตะ พระนารทะ พระสุเมธะ พระสุชาตะ พระปิยทัสสี พระปุสสะ มีพระชนมายุเก้าหมื่นปี

พระพุทธเจ้า 2 พระองค์ คือ พระเรวตะ พระเวสสภู มีพระชนมายุหกหมื่นปี

พระพุทธเจ้าวิปัสสีมีพระชนมายุแปดหมื่นปี

พระพุทธเจ้า 4 พระองค์เหล่านี้ คือ พระสิขี พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ มีพระชนมายุเจ็ดหมื่นปี, สี่หมื่นปี, สามหมื่นปี, สองหมื่นปี ตามลำดับ

ส่วนพระโคดมพุทธเจ้าของเรา มีพระชนมายุประมาณร้อยปี

…………..

ที่นำมาแสดงนี้ ในทางวิชาการถือว่าเป็น “ข้อมูล” มิได้ประสงค์จะให้เชื่อตามนี้

ชาวพุทธมีหน้าที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้ครบถ้วนทั่วถึง แต่เมื่อศึกษาแล้วจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ย่อมเป็นเสรีภาพทางศาสนาซึ่งทุกคนย่อมมีอยู่อย่างสมบูรณ์

สิ่งที่ควรมีอยู่อย่างสมบูรณ์ให้เท่าๆ กับเสรีภาพทางศาสนาก็คือ สติปัญญา ที่เรียกว่าวิจารณญาณ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะอายุยืน

: แต่จงคิดทุกวันคืนว่าจะอายุยืนไปทำอะไร

#บาลีวันละคำ (2,895)

16-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย