มุขบาฐ (บาลีวันละคำ 2,899)
มุขบาฐ
ความฉลาดในการรักษาพระศาสนา
อ่านว่า มุก-ขะ-บาด
ประกอบด้วยคำว่า มุข + บาฐ
(๑) “มุข”
บาลีอ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: มุขฺ + อ = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข”
(2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ข ปัจจัย
: มุ + ข = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก”
“มุข” (นปุงสกลิงค์) หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ ปาก (the mouth) และ หน้า (the face) จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท
ในที่นี้ “มุข” หมายถึง ปาก (the mouth)
(๒) “บาฐ”
บาลีเป็น “ปาฐ” (ปา-ถะ) รากศัพท์มาจาก ปฐฺ (ธาตุ = สวด, พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ป-(ฐฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ปฐฺ > ปาฐ)
: ปฐฺ + ณ = ปฐณ > ปฐ > ปาฐ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการอันเขาสวด” “บทอันเขาสวด” หมายถึง การอ่าน, การสวด, บทสวด, ข้อความในตัวบท, ถ้อยคำในคัมภีร์ (reading, text-reading; passage of a text, text)
มุข + ปาฐ = มุขปาฐ แปลว่า “บทที่สวดด้วยปาก”
บาลี “มุขปาฐ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุขบาฐ” และ “มุขปาฐะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุขบาฐ, มุขปาฐะ : (คำนาม) การต่อปากกันมา, การบอกเล่าต่อ ๆ กันมาโดยมิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร, เช่น เรื่องนี้สืบมาโดยมุขบาฐ เรื่องนี้เป็นมุขปาฐะ.”
อภิปราย :
คำนิยามของพจนานุกรมฯ ช่วยย้ำให้เราเข้าใจกันว่า “มุขบาฐ” ก็คือ ถ้อยคำ ข้อความ หรือเรื่องราว ที่ฟังจากปากแล้วก็เอาไปพูดต่อ ไม่มีลายลักษณ์อักษร ไม่มีที่ไปที่มา ซึ่งชวนให้เข้าใจว่าไม่มีหลักฐาน เอาเป็นแน่นอนไม่ได้ อาจถึงขั้น-ฟังได้ แต่เชื่อไม่ได้
ลักณะส่วนหนึ่งของ “มุขบาฐ” ก็เป็นเช่นว่านี้
แต่ “มุขบาฐ” ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราส่วนมากคิดไม่ถึง หรือไม่ได้คิด นั่นก็คือ เป็นวิธีทรงจำและรักษาพระพุทธพจน์คือคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง มั่นคง และแม่นยำ
ในสมัยพุทธกาล ผู้คนรู้วิชาหนังสือกันแล้ว แต่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ยังเลือกที่จะใช้การ “ท่องจำ” เป็นวิธีศึกษาและรักษาคำสอน ทั้งนี้เพราะการท่องจำเป็นวิธีที่คำสอนจะคลาดเคลื่อนได้ยากที่สุด
แต่โปรดเข้าใจว่า การท่องจำที่ว่านี้ไม่ใช่ต่างคนต่างท่อง ต่างคนต่างจำ หากแต่เป็นการท่องและจำข้อความเดียวกันโดยคนหลายๆ คน และมีการทบทวนร่วมกันอยู่เสมอ
การทบทวนร่วมกันหมายถึงหลายๆ คนมาสวดข้อความเดียวกันพร้อมกัน ที่มีคำเรียกว่า “สังคีติ” หรือ “สังคายนา” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “สวดพร้อมกัน”
การสวดพร้อมกันเป็นหลักประกันว่า ข้อความที่ทรงจำไว้และเอามาสวดนั้นจะต้องถูกต้องตรงกันทุกถ้อยคำ คลาดเคลื่อนไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว เพราะถ้าใครสวดคลาดเคลื่อนหรือตกหล่น จะสะดุดหรือขัดกันทันที
ขอให้นึกถึงการร้องเพลงหมู่หรือขับร้องหมู่ จะเข้าใจได้ทันทีว่า ทุกคนจะต้องทรงจำเนื้อเพลงได้ตรงกันทุกคำ ไม่ตกหล่นเลย
การทรงจำคำสอนไว้แล้วเอาสวดทบทวนกันเสมอๆ นี่แหละ คืออีกความหมายหนึ่งของคำว่า “มุขบาฐ” หรือ “มุขปาฐะ”
การใช้วิธีบันทึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษรเสียอีกที่เสี่ยงต่อการผิดพลาด คลาดเคลื่อน ตกหล่น หรือขาดเกินได้ง่ายที่สุด ยิ่งคัดลอกต่อ ๆ กันไปหลายทอด โอกาสที่จะคลาดเคลื่อนก็มีมากขึ้น ดังที่เล่ากันว่า ตำรายาบอกว่า “ปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดนุ่น” ลอกกันไปลอกกันมากลายเป็น “ปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดขนุน”
หลักฐานในคัมภีร์ :
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำว่า “มุขปาฐ” ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่พบในคัมภีร์มหาวงศ์ (ว่าด้วยพงศาวดารลังกา) ยืนยันว่า พระสงฆ์สาวกรักษาพระศาสนาสืบต่อมาด้วยวิธี “มุขปาฐ”
คัมภีร์มหาวงศ์ ปริจเฉทที่ 33 คาถาที่ 102 มีข้อความว่า –
…………..
ปิฏกตฺตยปาฬิญฺจ
ตสฺส อฏฺฐกถมฺปิ จ
มุขปาเฐน อาเนสุํ
ปุพฺเพ ภิกฺขู มหามติ.
พระบาลีพระไตรปิฎก
และอรรถกถาของพระไตรปิฎก
เหล่าภิกษุผู้มีปัญญามากในปางก่อน
นำสืบกันกันมาโดยมุขปาฐะ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้ปากรักษาพระศาสนา
: ใช้ปัญญารักษาปาก
#บาลีวันละคำ (2,899)
20-5-63