ภาระของคนเรียนบาลี 
ภาระของคนเรียนบาลี
——————
วันนี้ (๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓) ผมเห็นภาพจากโพสต์ของ “เพื่อน” อย่างน้อยก็ ๒ คน เป็นภาพที่น่าจะออกแบบมาจากแหล่งเดียวกัน
รูปแบบคือมีคำบาลีอยู่บรรทัดบนสุด
คำแปลเป็นไทยอยู่ ๒ บรรทัดต่อมา
แล้วก็มีโคลงสี่สุภาพ ๒ บท
มีชื่อเจ้าของโพสต์ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้แต่งโคลงนั้นอยู่บรรทัดล่างสุด
มีภาพประกอบเป็นเศียรพระพุทธรูปลักษณะสวยงามอยู่ด้านซ้าย
ดูภาพประกอบเอาเองก็ได้ครับ
อื่นใดยกไว้ ผมสะดุดใจคำบาลี
ภาษาบาลีมีข้อความตามที่คัดลอกมาดังนี้ (โปรดเทียบกับภาพประกอบด้วย)
………………………..
มธุ วา มญฺญตี พาโล ยาว ปาปํ น ปจฺจติ ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติ
………………………..
คำที่แปลไว้ว่าดังนี้
………………………..
“ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน
แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น”
………………………..
คำแปลก็ไม่สะดุดใจ แต่สะดุดใจคำบาลี
เริ่มเรียนกันเลยนะครับว่า คำบาลีในภาพนั้นเป็นกลอน
แบบเดียวกับที่เราเรียกคำประพันธ์ในภาพนั้นว่า “โคลง”
ภาษาไทยมีคำรวมเรียกคำประพันธ์แบบนี้ว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” หรือ “โคลงกลอน”
ภาษาบาลีมีคำรวมเรียกคำกลอนว่า “คาถา” หรือ “ฉนฺท” (ฉัน-ทะ) หรือที่นักเรียนาลีเรียกกันสั้นๆ ว่า “ฉันท์”
โคลงในภาพ ตามลักษณะคำประพันธ์ เราเรียกกันว่า “โคลงสี่สุภาพ”
คาถาหรือฉันท์ในภาพ ตามลักษณะคำประพันธ์ เรียกกันว่า “ปัฐยาวัตฉันท์” (ปัด-ถฺยา-วัด-ฉัน) หรือเรียกเฉพาะชื่อว่า “ปัฐยาวัต”
เมื่อเป็น “คาถา” หรือ “ฉันท์” หรือกลอนในภาษาบาลี เวลาเขียนก็ต้องแบ่งวรรคตามลักษณะของฉันท์ชนิดนั้นๆ ไม่ใช่เขียนเรียงคำเป็นพืดไป
ลองนึกดูว่า ถ้าโคลงในภาพเขียนเรียงคำเป็นพืด หน้าตาก็จะเป็นอย่างนี้
………………………..
กฎกรรมกำหนดให้เห็นผลกฎก่อก่อกฎกลกอปรร้ายกฎเกิดเกิดจากคนคิดกฎเกณฑ์นากฎส่งส่งสิ่งคล้ายครอบด้วยอยุติธรรม
………………………..
ต่อเมื่อจัดวรรคตอนตามรูปแบบของโคลงสี่สุภาพ ก็จะเป็นดังนี้
………………………..
กฎกรรมกำหนดให้……..เห็นผล
กฎก่อก่อกฎกล…………กอปรร้าย
กฎเกิดเกิดจากคน………คิดกฎ เกณฑ์นา
กฎส่งส่งสิ่งคล้าย……….ครอบด้วยอยุติธรรม
………………………..
คำบาลีในภาพก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขียนเรียงคำติดต่อกันไป คนอ่านก็จะไม่รู้ว่าเป็นคาถาหรือเป็นฉันท์ ต่อเมื่อแบ่งวรรคตอนตามรูปแบบของฉันท์ หน้าตาก็จะเป็นดังนี้
………………………..
มธุวา มญฺญตี พาโล……..ยาว ปาปํ น ปจฺจจติ
ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ……….อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติ.
………………………..
หรือจะแบ่งเป็นวรรคละบรรทัดก็ได้ หน้าตาจะเป็นดังนี้
………………………..
มธุวา มญฺญตี พาโล
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ
อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติ.
………………………..
เขียนคำอ่านว่าดังนี้
………………………..
มะธุวา มัญญะตี พาโล
ยาวะ ปาปัง นะ ปัจจะติ
ยะทา จะ ปัจจะตี ปาปัง
อะถะ ทุกขัง นิคัจฉะติ.
………………………..
โดยปกติ คำบาลีที่เป็นภาษิตเช่นนี้ก็ต้องมีที่มา หมายความว่าไม่ใช่คำบาลีที่คนจัดทำภาพคิดแต่งขึ้นเอง หากแต่เป็นคำที่ยกมาจากคัมภีร์ ที่เรียกว่า “ที่มา” เพราะฉะนั้น ตามหลักก็ต้องบอก “ที่มา” ไว้ด้วย
ทำไม? ก็เพื่อที่ว่าคนที่สนใจใคร่ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจะได้สามารถตามไปที่ต้นฉบับต้นกำเนิดได้โดยสะดวก
พูดภาษาสุภาพว่าเป็นการให้เกียรติแก่ต้นฉบับ ทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบด้วย คือไม่ได้ลักมาขโมยมา แต่บอกไว้ชัด ๆ ว่าเอามาจากไหน
ที่มาของคาถาบทนี้ ถ้าบอกละเอียดก็บอกว่า
“พาลวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๕”
ถ้าบอกสั้นๆ ก็บอกแค่ว่า
“ธรรมบท ๒๕/๑๕”
คงพอจำกันได้ใช่ไหมครับที่ผมเคยชวนให้ช่วยกันจำไว้สักนิดหนึ่งว่า “ธรรมบทอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕” เราก็มาเจอของจริงกันตรงนี้
เรื่องรูปแบบคำประพันธ์ เข้าใจตรงกันนะครับ
แต่ยังจบไม่ได้ เพราะที่ผมสะดุดใจจนเป็นเหตุให้ต้องเขียนเรื่องนี้ก็คือ คำแรกของคำบาลีในภาพ
คำแรกของคำบาลีในภาพเขียนว่า “มธุ วา”
แยก “มธุ” กับ “วา” เป็นคนละคำ
โปรดทราบว่า เขียนผิดอย่างแรงเลยนะครับ
คำที่ถูกคือ “มธุวา”
“มธุ” กับ “วา” ติดกัน เป็นคำเดียวกัน – “มธุวา”
ภาษาบาลีเหมือนภาษาอังกฤษอย่างหนึ่ง คือเขียนคำแยกกันเป็นคำ ๆ ถ้าแยกคำผิด ความหมายก็ผิดไปด้วย
อย่างที่ยกตัวอย่างกันบ่อย ๆ เช่นคำว่า season แปลว่า ฤดูกาล
ถ้าเขียนแยกเป็น sea son ก็ไม่ใช่ฤดูกาล
แต่เป็น sea ทะเล son ลูกชาย
ความหมายไปคนละเรื่อง
“มธุวา” แปลว่า “เหมือนน้ำผึ้ง” หรือ “สิ่งที่มีความหวาน”
ถ้าเขียนแยกกันเป็น “มธุ วา”
“มธุ” แปลว่า “น้ำผึ้ง”
“วา” แปลว่า “หรือว่า”
ไปคนละโลกทันที
ภาษาบาลีนั้นถ้าอยากรู้หลัก ก็ต้องเรียน
ถ้าไม่มีอุตสาหะที่จะเรียน ก็ต้องใช้วิธีจำเอาเป็นคำ ๆ
ถ้าไม่เรียน ไม่จำ ก็กรุณาถามผู้รู้ ซึ่งในสังคมไทยหาคนที่รู้ภาษาบาลีได้ไม่ยาก
ถ้าไม่เรียน ไม่จำ ไม่ถาม ก็อย่าเอาคำบาลีไปเผยแพร่
ถ้าไม่เรียน ไม่จำ ไม่ถาม แต่อยากจะเอาคำบาลีไปเผยแพร่ ก็เท่ากับเอาขยะมาทิ้งไว้ตามถนน
เป็นภาระให้ผมต้องตามเก็บ-อย่างที่กำลังทำอยู่นี้แหละ
เหนื่อยนะครับท่าน ไม่ใช่ไม่เหนื่อย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓
๑๗:
…………………………….
…………………………….