บาลีวันละคำ

ทรมาน – ธรมาน (บาลีวันละคำ 2,902)

ทรมานธรมาน

ไม่ใช่ “ทรมาร”

ทั้ง 2 คำอ่านเหมือนกันว่า ทอ-ระ-มาน

(๑) “ทรมาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทรมาน : (คำกริยา) ทําให้ลําบาก, ทําทารุณ เช่น ทรมานตัว ทรมานสัตว์, ทําให้ละพยศหรือลดทิฐิมานะลง. (คำนาม) ชื่อปางพระพุทธรูปที่ขึ้นต้นด้วยคํานี้ เช่นว่า ปางทรมานช้างนาฬาคิรี ปางทรมานพญานาค. (ป., ส. ทมน)”

คำในวงเล็บที่ว่า “ป., ส. ทมน” หมายความว่า คำว่า “ทรมาน” นี้ บาลีสันสกฤตเป็น “ทมน” (ทะ-มะ-นะ)

ทมน” รากศัพท์มาจาก ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, อบรม, ข่ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทมฺ + ยุ > อน : ทม + อน = ทมน แปลตามศัพท์ว่า “การฝึก” “การข่ม” หมายถึง การฝึก, การอบรม, การฝึกให้เชื่อง, การข่ม; การควบคุมตนเอง, การบังคับตนเอง, ความรู้จักประมาณ, การเอาชนะ (taming, subduing; self-control, self-command, moderation, mastery)

โปรดสังเกตคำอังกฤษ taming คำกริยาและคุณศัพท์เป็น tame รูปเดียวกับ “ทม

ทมน” มาเป็น “ทรมาน” ได้อย่างไร ?

(1) ทมน อ่านแบบไทยว่า ทะ-มน อ่านแบบอิงศัพท์เดิมว่า ทะ-มัน

(2) – ที่มาจากบาลีสันสกฤต เราถนัดที่จะแผลงเป็น ทร– : ทมน > ทรมน อ่านว่า ทะ-ระ-มัน

(3) จากเสียง –มัน ยืดเป็น –มาน : ทรมัน > ทรมาน

สรุป : ทมน > ทรมน > ทรมาน

แต่นี่เป็นการอธิบายแบบ “หวยออกแล้วจึงบอกฝัน

ถ้า พจน.ไม่บอกไว้ว่า “ป., ส. ทมน” ก็อาจอธิบายเป็นคำอื่นไปก็ได้ หรืออาจเดาไม่ถูกว่า “ทรมาน” มาจากคำในภาษาอะไร

ในภาษาไทย คำว่า  “ทรมาน” ยังเข้าใจกันในความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกระทมทุกข์

(๒) “ธรมาน

บาลีอ่านว่า ทะ-ระ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ดำรงอยู่) + มาน (มา-นะ) ปัจจัย

มาน” เป็นปัจจัยในกิริยากิตก์ หลักไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “กิตกิจจ ปัจจัย” (กิ-ตะ-กิด-จะ-) ปัจจัยในกลุ่มนี้มีหลายตัว “มาน” เป็นหนึ่งในกลุ่ม ใช้ลงหลังธาตุ บอกปัจจุบันกาล (present tense) เช่น –

คจฺฉมาโน” (คัด-ฉะ-มา-โน, รูปคำเดิม “คจฺฉมาน” (คัด-ฉะ-มา-นะ), คจฺฉ แปลงมาจาก คมฺ ธาตุ = ไป: คมฺ > คจฺฉ + มาน = คจฺฉมาน) แปลว่า “(เขา)ไปอยู่” หมายถึง กำลังไป (ออกเดินทางแล้ว แต่ยังไม่ถึง = กำลังไป)

: ธรฺ + มาน = ธรมาน (ทะ-ระ-มา-นะ) แปลว่า “ดำรงชีวิตอยู่” หมายถึง ยังมีชีวิต คือยังไม่ตาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรมาน : (คำแบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) ยังดํารงชีวิตอยู่. (ป.).”

ในภาษาไทยเก่าๆ นิยมใช้คำว่า “ธรมาน” เมื่อกล่าวถึงพระพุทธองค์ เช่น “เมื่อครั้งพระบรมศาสดายังทรงธรมานอยู่นั้น” หมายถึง เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงประกาศพระศาสนาอยู่ คือยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “ธรมาน” ว่า living, lasting (ยังมีชีวิตอยู่, ยังมีอายุต่อไปอีก)

สรุป :

ทรมาน” และ “ธรมาน” 2 คำนี้ ภาษาไทยออกเสียงเหมือนกัน เราคุ้นกับว่า “ทรมาน” แต่ไม่คุ้นกับคำว่า “ธรมาน

บาลีวันละคำนำมาเสนอไว้ เผื่อไปเจอ “ธรมาน” เข้าที่ไหน จะได้ไม่งง และไม่หลงคิดไปว่าเขียนผิด

เมื่อได้ยินข้อความทำนองว่า “เมื่อครั้งพระบรมศาสดายังทรงธรมานอยู่นั้น” จะได้เขียนคำว่า “ธรมาน” ถูกต้อง ไม่เขียนผิดเป็น “ทรมาน” เพราะไม่เคยรู้ว่ามีคำที่เขียนว่า “ธรมาน” อยู่ด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา

พาลา ชีวนฺติ โมฆชีวิตํ.

: บัณฑิตมีชีวิตอยู่เพื่อฝึกตน

: พาลชนหายใจทิ้งไปวันๆ

#บาลีวันละคำ (2,902)

23-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *