บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความคิดเล็กๆ ในวันนี้

ความคิดเล็กๆ ในวันนี้

———————

กฎหมายกับศีลธรรม 

ขึ้นต้นก็ขอสรุปไว้เลยว่า ทุกวันนี้คนเห็นกฎหมายสำคัญกว่าศีลธรรม

เราพูดกันติดปากว่า … มีความผิดตามกฎหมาย 

แต่ไม่มีใครพูด-ซึ่งก็คือไม่มีใครคิดนั่นเอง-ว่า … มีความผิดตามศีลธรรม 

วันนี้ (๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓) ระหว่างเดินออกกำลังตอนเช้า ผมคิดหาคำจำกัดความคำว่า “ศีลธรรม” 

ผิดถูกไม่รับรอง แต่ผมชอบอย่างนี้ – 

…………………

ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ นั่นคือผิดศีล

ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ นั่นคือผิดธรรม

…………………

ไปลักขโมยหยิบฉวยของคนอื่นเขา นี่คือทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ผิดศีล 

ไม่ต้องเอากฎหมายมาอ้างมาเกี่ยว กฎหมายจะว่าผิดหรือไม่ผิดหรือว่าอย่างไร ก็ช่างกฎหมาย 

แต่ทำอย่างนี้ผิดศีล เพราะไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ 

เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก หรือมีปัญหา พอช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ แต่ไม่ช่วย นี่คือไม่ทำสิ่งที่ควรทำ ผิดธรรม 

ไม่ต้องอ้างกฎหมายอีกเช่นกัน กฎหมายจะบัญญัติไว้ให้ช่วย หรือไม่ได้บัญญัติไว้ ก็ช่างกฎหมาย 

แต่ไปเจอเรื่องอย่างนี้แล้วไม่ทำ นั่นคือผิดธรรม

ผิดศีลผิดธรรมคืออย่างนี้

ศีลธรรมคืออย่างนี้

เอาแบบเข้าใจง่ายๆ เป็นพื้นฐานเบื้องต้น

——————

ซอยบ้านผม เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว นานๆ จะมีรถผ่านไปมาสักคัน

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว รถเข้าออกทั้งวัน แต่ไม่มีจอดแช่ข้างถนน

ปีนี้ ใช้ถนนเป็นที่จอดรถตลอดทั้งซอย 

ใช้ถนนเป็นที่จอดรถ ผิดกฎหมายหรือเปล่า ผมไม่ทราบ คนที่เรียนกฎหมายคงบอกได้ 

แต่การใช้ถนนเป็นที่จอดรถ เป็นการทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

ไม่ใช่จอดทำธุระชั่วอึดใจหนึ่งแล้วก็ไปนะครับ 

จอดแบบเอาผ้าคลุมหรือเอาขวดน้ำตั้งข้างล้อกันหมาเยี่ยวรดนั่นเลย

คือจอดเหมือนเป็นที่จอดรถในบ้าน แต่แทนที่จะจอดในบ้านก็มาใช้พื้นที่บนถนนหน้าบ้านนั่นเองเป็นที่จอด เพราะในบ้านไม่มีที่จอด 

แล้วก็จอดแบบนี้แทบทุกหน้าบ้าน หน้าบ้านใครหน้าบ้านมัน-เหมือนเป็นที่ส่วนตัว 

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ รถที่จะผ่านไปมาต้องหลบเอาเอง ถ้ามีรถสวนมาก็ต้องรอเอาเอง 

ถ้ามีรถใหญ่เข้ามา บางทีผ่านไม่ได้ เพราะติดรถที่จอดแช่อยู่หน้าบ้านกินเนื้อที่เกือบครึ่งถนน

ต้องหลบ ต้องรอ ต้องชะลอไปแบบนี้ตลอดทั้งซอย

ถ้าใครอยากหาเรื่อง ไปต่อว่า ก็จะโดนศอกกลับ 

“แล้วมึงจะให้กูไปจอดที่ไหน” 

ปัญหาของ “มึง” แต่โยนไปให้ชาวบ้านตอบ ตลกดีไหม 

ซอยบ้านผมมีวัด บริเวณวัดกว้างขวางมาก จอดรถได้สบาย จอดชั่วคราวหรือจอดค้างวันค้างคืนก็ได้ จอดรถที่วัดแล้วเดินไปบ้านที่อยู่ท้ายซอยก็สบายมาก 

บ้านผม ถ้าวันไหนมีรถมาหลายคัน ที่จอดในบ้านไม่พอ ผมก็เอาไปจอดในวัด แล้วเดินมาบ้าน ไม่เคยจอดแช่หน้าบ้านเมืองบ้านอื่นๆ 

ตัวเองอาจจะไม่สะดวกบ้าง แต่รับรองได้ว่าไม่ไปรุกล้ำสิทธิที่จะได้รับความสะดวกของเพื่อนมนุษย์ในซอย 

……………….

ที่บรรยายมานี้เป็นเพียงภาพตัวอย่างของกรณี “ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ คือผิดศีล” 

ชีวิตจริงประจำวันในสังคม มีกรณีอื่นๆ เรื่องอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้-“ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ”-อีกเป็นอเนกอนันต์ 

เป็นอันสรุปได้ว่า ผู้คนในสังคมไม่คำนึงถึงศีลธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ชำเลืองดูกฎหมายไว้เสมอ 

ผิดกฎหมายแจ้งๆ ไม่กล้าทำ กลัวถูกจับ กลัวเสียค่าปรับ กลัวติดคุก

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ละเลย หรือ “หยวนๆ” กันได้ ก็ข้ามหัวกฎหมายทันทีเหมือนกัน

ทำผิดกฎหมาย ถูกจับ จึงมีปรากฏการณ์พลิกแพลงให้ไม่ต้องรับโทษ ไม่มีความผิด เป็นที่รู้เห็นกันทั่วไป-จนกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผิดกฎหมาย ถ้ามีเส้นสายก็ไม่ต้องรับโทษ

ผมกำลังเทียบให้เห็นว่า ภาพของการเคารพศีลธรรมกับการเคารพกฎหมายเป็นอย่างไร 

คนเคารพกฎหมายยังอาจละเมิดศีลธรรมได้สบายๆ

แต่คนที่เคารพศีลธรรม จะละเมิดกฎหมายได้ยากที่สุด 

เพราะการละเมิดกฎหมายก็คือ -“ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ” อันเป็นการละเมิดศีลธรรมอยู่ในตัว 

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องจริง-คนเคารพศีลธรรมจะไม่ละเมิดกฎหมาย 

แต่เรื่องจริงที่น่าเจ็บปวดในสังคมบ้านเราก็คือ เราให้ความสำคัญแก่การศึกษาเล่าเรียนกฎหมายชนิดทุ่มเท ตั้งกระบวนการศึกษากฎหมายขึ้นในทุกสถาบันการศึกษา ยกเกรดการศึกษากันถึงระดับปริญญาเอก มีเกียรติ มีฐานะอันสูงยิ่งในสังคม 

แต่เราแทบจะไม่ได้นึกถึงการศึกษาศีลธรรม 

ผู้บริหารบ้านเมืองตั้งงบประมาณเพื่อการศึกษากฎหมายโดยตรงเป็นจำนวนมหาศาล 

นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานและกระบวนการเพื่อออกกฎหมายและทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายโดยตรงโดยเฉพาะอีกมากมาย

แต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการศึกษาศีลธรรมโดยตรง 

ไม่มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษาและส่งเสริมศีลธรรมโดยตรงโดยเฉพาะแต่อย่างใดทั้งสิ้น

วันร้ายคืนร้าย เราก็ถอดวิชาศีลธรรมออกจากหลักสูตรการศึกษาของชาติ 

มีผู้พยายามอธิบายแบบกระสุนวิถีโค้งว่า นี่ไงล่ะ นั่นไงล่ะ ที่สังคมมอบหมายให้ทำหน้าที่ศึกษาและส่งเสริมศีลธรรม

เช่น-มองตามมือก็น่าจะชี้ไปที่คณะสงฆ์ 

นิตยภัตถวายสมเด็จพระสังฆราชไปจนถึงเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายปีละหลายล้าน นั่นยังไงล่ะคืองบประมาณเพื่อการศึกษาและส่งเสริมศีลธรรมของสังคมไทย 

แต่ถ้าไปถามคณะสงฆ์ว่า พระคุณท่านทำหน้าที่เพื่อการศึกษาศีลธรรมของประชาชนคนไทยบ้างหรือเปล่า พระคุณท่านทำหน้าที่ส่งเสริมศีลธรรมของประชาชนคนไทยบ้างหรือเปล่า 

ผมว่าพระท่านก็คงงงเต๊ก

ถ้าวัดกันที่หน่วยงานของทางราชการจะยิ่งเห็นชัด 

ระบบราชการไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางกฎหมายโดยตรงโดยเฉพาะอยู่ทุกระดับ 

ใหญ่สุดระดับกระทรวง 

มีบุคลากรที่ทำหน้าที่ทางกฎหมายโดยตรงโดยเฉพาะอยู่ทั่วไปหมด บิ๊กๆ ทั้งนั้น

แต่ไม่มีหน่วยงานและบุคลากรที่ทำหน้าที่ทางศีลธรรมโดยตรงโดยเฉพาะอยู่เลยแม้แต่หน่วยเดียว-แม้แต่คนเดียว —

ยกเว้นกระทรวงกลาโหม มีหน่วยงานอนุศาสนาจารย์ทั้งที่กระทรวง และทั้ง ๓ เหล่าทัพ ทำหน้าที่ทางศีลธรรมโดยตรงโดยเฉพาะแก่กำลังพลในสังกัด

กรมการศาสนา เมื่อก่อนเคยมี ตอนนี้มีหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ 

กรมราชทัณฑ์ มีอนุศาสนาจารย์ แต่ทำหน้าที่อบรมศีลธรรมแก่ผู้ต้องขังเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับตัวข้าราชการในสังกัด 

กล่าวเฉพาะในกระทรวงกลาโหม หัวหน้าหน่วยงานอนุศาสนาจารย์มีชั้นยศพันเอก (พิเศษ) นาวาเอก (พิเศษ) และ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) เท่านั้น 

ในขณะที่หัวหน้าหน่วยงานทางกฎหมายระดับกระทรวงมีชั้นยศ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก (เจ้ากรมพระธรรมนูญ) 

หัวหน้าหน่วยงานทางกฎหมายระดับเหล่าทัพ มีชั้นยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี (ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ…)

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในกระทรวงกลาโหมซึ่งมีหน่วยงานทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรม ก็ยังให้น้ำหนักแก่งานกฎหมายมากกว่างานศีลธรรม

……………….

ทั้งหมดที่บรรยายมานี้ เจตนาเพียงเพื่อเสนอแนวคิดสู่กันฟังเท่านั้น

แนวคิดก็คือ –

………………………………….

คนที่เคารพกฎหมายยังอาจละเมิดศีลธรรมได้ง่ายที่สุด

แต่คนที่เคารพศีลธรรมจะละเมิดกฎหมายได้ยากที่สุด 

………………………………….

แต่ผู้บริหารบ้านเมืองของเราให้ความสำคัญแก่ศีลธรรมน้อยที่สุด

ยกตัวอย่างตลกๆ 

เรามีงบประมาณจ้างคนกวาดถนน 

แต่ไม่มีงบประมาณอบรมประชาชนให้มีสำนึกในการทิ้งขยะ

ผมเชื่อว่าคงจะมีญาติมิตรฝ่ายข้างมากบอกว่า โอย มนุษย์เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน่นแล้ว จะไปเอาอะไรกันนักกันหนา 

ผมว่านั่นเป็นความคิดแบบยอมจำนน หรือลอยตามน้ำ

ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะคิดแบบลอยตามน้ำ คงไม่มีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในโลก 

และถ้าผู้นำพระศาสนาคิดแบบลอยตามน้ำ พระพุทธศาสนาก็คงไม่ตกทอดมาจนถึงพวกเรา 

ก็ไม่ว่าอะไรกัน ความคิดเห็นของผมคงไม่ได้ไปขวางทางอะไรใคร ท่านยังคงลอยตามน้ำได้ตามสบายต่อไป

แต่คนอ่านที่มีอุดมคติมีอุดมการณ์ก็คงจะพอมีอยู่บ้าง 

ตามคำคมที่ว่า-ลมพัดใบไม้ไหว พูดไปก็ต้องมีคนได้ยิน

เมล็ดพืชแห่งอุดมคติที่หว่านโปรยลงไปวันนี้ อาจจะงอกงามขึ้นใจจิตใจอันงามและอดทนเข้มแข็งของใครสักคนในวันข้างหน้า หรือในอนาคตกาลนานไกล

ศีลธรรมจะกลับมายิ่งใหญ่ในวันหน้า 

ตราบเท่าที่เรายังช่วยกันสืบทอดเจตนา-คือความคิดเล็กๆ ในวันนี้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๑๔:๓๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *