บาลีวันละคำ

คาถาบูชา “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” (บาลีวันละคำ 2,913)

คาถาบูชา “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์”

……………………………………

“อิติ อิติ กุมารไข่เจดีย์ จะมะหาเถโร

ลาภะ ลาภา ภวันตุเม”

……………………………………

มีผู้ถามว่า คาถานี้ถูกต้องหรือไม่?

จะตอบว่าคาถานี้ถูกต้องหรือไม่ ต้องตีกรอบกันก่อนว่า “ถูกต้อง” คืออะไรอย่างไร เช่น –

๑ คาถานี้ถูกต้องตามหลักภาษาบาลีหรือไม่

๒ สะกดคำและวรรคตอนถูกต้องหรือไม่

๓ ความหมายของถ้อยคำถูกต้องหรือไม่

…………..

ข้อ ๑ ข้อความนี้มีภาษาไทยปนกับภาษาบาลี คนที่คิดถ้อยคำเอาคำว่า “กุมารไข่เจดีย์” ใส่เข้าไปตามความเข้าใจของตัวเอง โดยไม่เข้าใจหลักภาษาบาลี หรืออาจจะเข้าใจ แต่ไม่คำนึงถึงถูกผิด (ข้าจะเอาของข้าอย่างนี้ ใครจะทำไม)

“คาถา” ที่มีภาษาไทยปนบาลีแบบนี้มีอยู่ทั่วไป จนยากที่จะไปชี้ถูกชี้ผิด เพียงแต่ขอให้เข้าใจไว้ว่าไม่ถูก แต่เหลือวิสัยที่ตามไปแก้ไข

แต่เมื่อสามารถจะชี้ข้อผิดได้ ก็น่าจะชี้ให้กันดูไว้พอเป็นความรู้

จะ” (เขียนแบบบาลีไม่มีสระ อะ > “จ”) ในภาษาบาลีแปลว่า “และ” (and) ต้องอยู่หลังคำนามหรือคำกริยา หลัง “จะ” ไม่ติดกับคำอื่น

ในที่นี้ “จะ” ไปเขียนติดไว้กับ “มะหาเถโร” ผิดหลักภาษา

“จะ” ที่ต่อด้วย “มะหาเถโร” จะต้องเว้นวรรคและมีคำอื่นนำหน้ามาแล้ว เช่น –

สีวะลี จะ มะหาเถโร

กัสสะโป จะ มะหาเถโร

โมคคัลลาโน จะ มะหาเถโร

ในคาถานี้ คำที่อยู่ข้างหน้า “จะ” คือ “กุมารไข่เจดีย์” ถ้าเขียนตามหลักภาษาต้องเขียนว่า “กุมารไข่เจดีย์ จะ” ซึ่งถ้าเขียนอย่างนี้ก็กลายเป็นคำตลกไป เพราะ “กุมารไข่เจดีย์” เป็นคำไทย “จะ” เป็นคำบาลี เอามาควบกันไม่ได้ แล้ว “กุมารไข่เจดีย์” ก็ไม่ใช่ “มะหาเถโร”

เท่านี้ก็เห็นแล้วว่า ผู้คิดถ้อยคำคาถานี้ขึ้นมาคิดขึ้นตามใจชอบ ผิดถูกไม่รับรู้

ข้อ ๒ คาถานี้ ว่าตามหลักการเขียนคำบาลีก็สะกดและวรรคตอนผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาก คือ –

จะมะหาเถโร – ต้องเขียนแยกกัน “จะ” คำหนึ่ง “มะหาเถโร” อีกคำหนึ่ง (ดูคำอธิบายข้อ ๑ ด้วย)

ลาภะ ลาภา – ต้องเขียนติดกันเป็น “ลาภะลาภา”

ภวันตุเม – ต้องเขียนแยกกัน “ภวันตุ” คำหนึ่ง “เม” อีกคำหนึ่ง

อนึ่ง “ภวันตุ” ถ้าสะกดตามแบบคำอ่านต้องสะกดเป็น “ภะวันตุ” คือ ภะ- มีสระ อะ ด้วย

แก้แล้วเป็น —

… จะ มะหาเถโร

ลาภะลาภา ภะวันตุ เม

ข้อ ๓ ความหมายของถ้อยคำ ผู้คิดข้อความในคาถาคงมีเจตนาจะให้มีความหมายว่า กุมารไข่เจดีย์และมหาเถระ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามหาเถระนี้คือใคร บางทีจะตีขลุมเอาว่า กุมารไข่เจดีย์เป็นมหาเถระ หรือมหาเถระชื่อกุมารไข่เจดีย์-อะไรสักอย่างหนึ่ง) ขอให้กุมารไข่เจดีย์มหาเถระมีอำนาจบันดาลให้เกิดลาภแก่ข้าพเจ้า-คือตัวผู้ว่าคาถานี้

ถ้าถามว่าการยกข้อความนี้ขึ้นมาอ้างถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ตรง ไม่ถูก คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น อยากได้ลาภก็ต้องทำเองหาเอง ไม่ใช่อ้อนวอนขอให้ใครบันดาลให้

แต่เจตนาของการท่องคาถาในหมู่คนไทยเป็นการอ้อนวอนทั้งนั้น คือขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยบันดาล ใครไปกระทบเข้าก็จะถูกโกรธ ฉันเชื่อของฉันอย่างนี้ มันหนักหัวคุณด้วยหรือ คุณมายุ่งอะไรด้วย

เพราะฉะนั้น อย่าไปแตะต้องดีที่สุด ทำได้เพียงให้ความรู้กันไป เช่นให้ความรู้ทางหลักภาษาอย่างที่กำลังพูดอยู่นี้ ผิดถูกว่ากันตามหลักภาษา แต่ความเชื่อความศรัทธาของใครของมัน เว้นไว้แต่เขาอยากได้อยากฟังความคิดความเห็น ก็ค่อยว่ากันไปตามเนื้อผ้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประพฤติความสัตย์สุจริต

: เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วในตัว

#บาลีวันละคำ (2,913)

3-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *