-ช แปลว่า “เกิด” (บาลีวันละคำ 2,915)
–ช แปลว่า “เกิด”
“-ช” ในที่นี้อ่านว่า ชะ เครื่องหมายขีด – ข้างหน้า หมายความว่า โดยปกติแล้วจะไม่ใช้เดี่ยวๆ คือจะมีแต่คำว่า “ช” ตัวเดียวไม่ได้ จะต้องมีคำอื่นอยู่ข้างหน้า หรือเป็นคำที่ใช้ต่อท้ายคำอื่น จึงจะแปลว่า “เกิด” ได้
ตัวอย่างเช่น “วาริช” บาลีอ่านว่า วา-ริ-ชะ รากศัพท์มาจาก วาริ (น้ำ) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (ชนฺ > ช) และลบ กฺวิ
: วาริ + ชนฺ = วาริชนฺ + กฺวิ = วาริชนกฺวิ > วาริชน > วาริช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดในน้ำ” (water-born) หมายถึง ดอกบัว, ปลา
เป็นอันได้หลักภาษาว่า “-ช” คำนี้รากศัพท์มาจาก ชนฺ ธาตุ แปลว่า “เกิด” เมื่อทำกรรมวิธีทางไวยากรณ์แล้วเหลือเพียง “-ช” คำเดียว แปลว่า “สิ่งที่เกิด–” ต่อด้วยคำที่อยู่ข้างหน้า
เช่นในตัวอย่าง คำที่อยู่ข้างหน้าคือ “วาริ” แปลว่า “น้ำ” “วาริช” จึงแปลว่า “สิ่งที่เกิดในน้ำ” “สิ่งที่เกิดจากน้ำ” หรือ “สิ่งที่เกิดเพราะน้ำ” แล้วแต่ว่าคำไหนจะมีความกลมกลืนดีกว่ากัน
ในภาษาไทย คำที่มี “-ช” ต่อท้ายตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้มีเป็นจำนวนมาก ขอคัดมาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เท่าที่นึกได้พอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ –
(1) ทวิช, ทวิช– [ทะวิด, ทะวิชะ-] = นก; พราหมณ์. (ป., ส. ทฺวิช ว่า ผู้เกิด ๒ หน).
(2) วาริช, วารีช = เกิดแต่นํ้า คือ บัว ปลา.
(3) สหัช (สห = พร้อมกัน + ช = เกิด = เกิดพร้อมกัน) = ที่มีมาแต่กําเนิด.
(4) อนุช [อะนุด] = “ผู้เกิดภายหลัง”, น้องสาว, นิยมใช้ว่า นุช.
(5) อนุชา [อะนุชา] = “ผู้เกิดภายหลัง”, น้องชาย, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระอนุชา.
(6) อัตรชะ [อัดตฺระ-] = “เกิดจากตัวเอง” หมายถึง ลูกของตัวเอง.
(7) อัณฑชะ = “เกิดแต่ไข่” หมายถึง สัตว์ที่เกิดจากไข่ เช่น ไก่ นก เต่า.
(8) อัมพุช [อําพุด] = “เกิดในนํ้า” หมายถึง บัว; ปลา.
ปัจจุบันนักตั้งชื่อนิยมใช้คำว่า “ช” ต่อท้ายคำแปลกๆ เกิดเป็นความหมายใหม่ เช่น “ฉันทัช” (ฉัน-ทัด) (ฉันท = ความพอใจ, ความรัก + ช) แปลว่า “เกิดจากความรัก” อย่างนี้เป็นต้น
ต่อไปนี้เราก็รู้แล้วว่า “-ช” ที่มาอยู่ข้างท้ายนี้ไปอย่างไรมาอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร และแปลว่าอะไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตายแล้วไม่เกิด มี
: แต่เกิดแล้วไม่ตาย ไม่มี
#บาลีวันละคำ (2,915)
5-6-63