บาลีวันละคำ

เอหิสาคตวาที (บาลีวันละคำ 2,926)

เอหิสาคตวาที

หนึ่งในคุณสมบัติของคนรับแขก

อ่านว่า เอ-หิ-สา-คะ-ตะ-วา-ที

หรือจะอ่านแบบไทยว่า เอ-หิ-สา-คด-ตะ-วา-ที ก็ได้

แยกศัพท์เป็น เอหิ + สาคต + วาที

(๑) “เอหิ” เป็นคำกริยาอาขยาต กัตตุวาจก มัธยมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่เราพูดด้วย) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + อิ (ธาตุ = ไป) + (อะ) ปัจจัย + หิ ปัญจมีวิภัตติ, แปลง อา กับ อิ เป็น เอ

: อา + อิ = เอ + = เอ + หิ = เอหิ แปลตามศัพท์ว่า “(อันว่าท่าน) จงมา” เป็นคำบอกเชิญว่า จงมา, มานี่ (come, come here)

(๒) “สาคต” รากศัพท์มาจาก สุ + อาคต

(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ดี, งาม, ง่าย

(ข) “อาคต” (อา-คะ-ตะ) เป็นคำกริยากิตก์ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: อา + คมฺ = อาคมฺ + = อาคมต > อาคต แปลตามศัพท์ว่า “มาแล้ว

เรียนไวยากรณ์ง่ายๆ :

คมฺ ธาตุ หมายถึง ไป แต่เมื่อมี อา (คำอุปสรรค) นำหน้า ทำให้กลับความหมาย จาก “ไป” กลับเป็น “มา

ปัจจัย (อ่านว่า ตะ-ปัจจัย) เป็นเครื่องหมายอดีตกาล ประกอบท้ายธาตุตัวไหน ทำให้ธาตุตัวนั้นแปลว่า “-แล้ว” เช่น –

มต (มะ-ตะ) = ตายแล้ว

คต (คะ-ตะ) = ไปแล้ว

ชิต (ชิ-ตะ) = ชนะแล้ว

สุ + อาคต แปลง สุ เป็น หรือจะว่าลบ อุ ที่ สุ ก็ได้

: สุ + อาคต = สาคต

อีกกรณีหนึ่ง แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สฺว)

: สุ > โส > สฺว + อาคต = สฺวาคต

ที่พบทั่วไป คำนี้มักเป็น “สฺวาคต” แต่ในที่นี้เป็น “สาคต

สาคต” และ “สฺวาคต” มีความหมายเท่ากัน คือแปลว่า “มาดีแล้ว” แต่ถ้าแปลให้ถูกระเบียบการแปลโดยพยัญชนะ ต้องแปลว่า “มาแล้วดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาคต” ว่า “greeting of welcome,” hail! (“คำปราศรัยต้อนรับ”, เชิญ) และแปล “สฺวาคต” ว่า (1) welcome (ต้อนรับ) (2) learnt by heart (ท่องขึ้นใจ)

โปรดสังเกตว่า welcome ในภาษาอังกฤษนั้นตรงกับ “สฺวาคต” หรือ “สาคต” แบบตรงตัว คือ wel (well) = สุ come = อาคต

(๓) “วาที” รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด, แสดงความเห็น) + ณี ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วทฺ > วาท)

: วทฺ + ณี = วทณี > วที > วาที แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว

หมายถึง พูดถึง, กล่าว, สอน, พูดคุย; ถือทัศนะหรือลัทธิคำสอน; ถกเถียง (speaking of, saying, asserting, talking; professing, holding a view or doctrine; arguing)

การประสมคำ :

เอหิ + สาคต = เอหิสาคต (เอ-หิ-สา-คะ-ตะ) แปลว่า “มาเถิด มาดีแล้ว

เอหิสาคต + วาที = เอหิสาคตวาที (เอ-หิ-สา-คะ-ตะ-วา-ที) แปลว่า “ผู้มีปกติกล่าวว่า ‘มาเถิด มาดีแล้ว’ ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เอหิสาคตวาที” ว่า a man of courtesy [lit. one who habitually says: “come you are welcome”] (คนมีความเอื้อเฟื้อ [ตามตัว. ผู้ซึ่งกล่าวเป็นปกติว่า: “โปรดมาเถิด ที่นี่ยินดีต้อนรับท่าน”])

พึงทราบเป็นความรู้พิเศษนิดหนึ่งว่า คำว่า “เอหิสาคตวาที” มีลักษณะพิเศษ คือใช้คำกริยาอาขยาตในฐานะเป็นคำนาม กล่าวคือ คำว่า “เอหิ” เป็นคำกริยาอาขยาต ปกติแล้วจะคงเป็นคำกริยาอยู่ในที่ทั้งปวง ไม่แปรสภาพเป็นอย่างอื่น แต่ในกรณีพิเศษ-เช่นในที่นี้- “เอหิ” คงรูปเป็นคำกริยา แต่ใช้ในฐานะเป็นคำนามเพราะถูกแปรสภาพเป็นส่วนหนึ่งของคำนาม (“เอหิสาคตวาที” เป็นคำนาม)

ตัวอย่างคำเช่นนี้ที่นักเรียนบาลีรู้จักกันดี คือคำว่า “นตฺถิปูโว” แปลว่า “ขนมไม่มี” (ขนมชนิดหนึ่งชื่อ “ขนมไม่มี”) ตามปกติคำว่า “นตฺถิ” (นัด-ถิ) เป็นคำกริยาอาขยาต แปลว่า “ย่อมไม่มี” ถ้าเขียนแยกกันเป็น 2 คำ คือ “นตฺถิ  ปูโว” ก็แปลว่า “อันว่าขนม ย่อมไม่มี” หมายถึง ขนมหมดแล้ว ไม่มีขนมจะให้กินอีกแล้ว

แต่เมื่อรวมกับคำว่า “ปูโว” (ขนม) อันเป็นคำนาม เป็น “นตฺถิปูโว” “นตฺถิ” จึงกลายเป็นคำนามไปด้วย (ผู้ต้องการทราบต้นเหตุของคำนี้พึงศึกษาจากประวัติพระอนุรุทธเถระ)

คำว่า “เอหิสาคตวาที” มีสถานะเช่นเดียวกับคำว่า “นตฺถิปูโว

ขยายความ :

เอหิสาคตวาที” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธองค์ แสดงไว้ในโสณทัณฑสูตรและกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 182 และข้อ 203 ดังนี้ –

…………..

(1) เอหิสาคตวาที = กล่าวเชื้อเชิญ (one who habitually says “come you are welcome”)

(2) สขิโล = ผูกไมตรี (kindly in speech)

(3) สมฺโมทโก = สุภาพ (polite)

(4) อพฺภากุฏิโก = ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด (not frowning, genial)

(5) อุตฺตานมุโข = ยิ้มแย้มแจ่มใส (speaking plainly, easily understood)

(6) ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน (speaking obligingly)

…………..

ผู้รู้ท่านพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า นี่คือคุณสมบัติของคนที่ควรทำหน้าที่รับแขก

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 424 อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายโสณทัณฑสูตร ขยายความคำว่า “เอหิสาคตวาที” ว่า –

…………..

เอหิสฺวาคตวาทีติ  เทวมนุสฺสปพฺพชิตคหฏฺเฐสุ  ตํ  ตํ  อตฺตโน  สนฺติกํ  อาคตํ  เอหิ  สฺวาคตนฺติ  เอวํ  วทตีติ  อตฺโถ.

คำว่า “เอหิสาคตวาที” หมายความว่า พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสกะคนผู้มาสู่สำนักของพระองค์ทุกรูปทุกนามไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ บรรพชิต และคฤหัสถ์อย่างนี้ว่า “เชิญท่านเข้ามาเถิด ท่านมาดีแล้ว (ขอต้อนรับท่านด้วยความยินดี)” ดังนี้

…………..

คำว่า “เอหิสาคตวาที” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปราย :

เอหิสาคตวาที” หมายถึง ผู้ที่เมื่อแขกไปใครมาก็เอ่ยปากปราศรัยเชื้อเชิญด้วยอัธยาศัยอันงาม รวมเอาคุณสมบัติทุกข้อ ตั้งแต่-ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน-จนถึง-สขิโล = ผูกไมตรี-มาใช้ในข้อนี้ได้ครบถ้วน

คนที่มีลักษณะ “เอหิสาคตวาที” ดังกล่าวนี้ย่อมเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกในกิจการทั้งปวงที่ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับมวลชน

…………..

ในคัมภีร์ มีสำนวนเจ้าบ้านปฏิสันถารต้อนรับแขกเป็นแบบฉบับของ “เอหิสาคตวาที” ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง ขอยกมาสักแห่งหนึ่งพอเป็นตัวอย่างเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

สฺวาคตนฺเต มหาพฺรเหฺม

อโถ เต อทุราคตํ

อนฺโต ปวิส ภทฺทนฺเต

ปาเท ปกฺขาลยสฺสุ เต.

ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว

อนึ่ง ท่านมิใช่มาร้าย

เชิญเข้ามาภายในเถิดท่านผู้เจริญ

เชิญล้างเท้าของท่านเถิด

ติณฺฑุกานิ ปิยาลานิ

มธุเก กาสมาริโย

ผลานิ ขุทฺทกปฺปานิ

ภุญฺเช พฺรเหฺม วรํ วรํ.

ผลมะพลับ ผลมะหาด

ผลมะซาง ผลหมากเม่า

มีรสหวานปานน้ำผึ้ง

เชิญเลือกฉันแต่ผลที่ดีๆ เถิดท่านพราหมณ์

อิทํปิ ปานิยํ สีตํ

อาภตํ คิริคพฺภรา

ตโต ปิว มหาพฺรเหฺม

สเจ ตฺวํ อภิกงฺขสิ.

น้ำดื่มนี้เย็นสนิท

นำมาแต่ซอกเขา

เชิญดื่มตามสบายเถิดพราหมณ์

ถ้าท่านปรารถนาจะดื่ม

อถ ตฺวํ เกน วณฺเณน

เกน วา ปน เหตุนา

อนุปฺปตฺโตสิ พฺรหารญฺญํ

ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต.

(ถอดความเป็นภาษาบ้านๆ ว่า)

ท่านอุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงนี่

มีธุระปะปังอันใด

กินน้ำกินท่าให้สบายใจ

แล้วค่อยคุยกัน

ที่มา: มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์สักกบรรพ

ตอนพระเวสสันดรปฏิสันถารกับพระอินทร์ที่จำแลงเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี

พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1204

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การต้อนรับเป็นมรรยาทที่ดี

: แต่การต้อนรับที่ดีไม่ใช่เพียงแค่ทำไปตามมรรยาท

#บาลีวันละคำ (2,926)

16-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *