บาลีวันละคำ

สตฺตุ (บาลีวันละคำ 4,619)

สตฺตุ

ศีลของพระภิกษุเรารู้กันว่า มี 227 สิกขาบท 1 ใน 227 คือสิกขาบทที่ 5 โภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 501 ระบุ “เบญจโภชน์” ไว้ดังนี้ –

…………..

โภชนียํ  นาม  ปญฺจ  โภชนานิ  

โอทโน  กุมฺมาโส  สตฺตุ  มจฺโฉ  มํสํ  ฯ

…………..

ขยายความว่า ที่ชื่อว่า โภชนียะ (ของกิน) ได้แก่ โภชนะ 5 อย่าง คือ 

(1) โอทโน ข้าวสุก (boiled rice) 

(2) กุมฺมาโส ขนมสด (junket)

(3) สตฺตุ ขนมแห้ง (barley-meal)

(4) มจฺโฉ ปลา (fish)

(5) มํสํ เนื้อ (meat)

หลักพระวินัยกำหนดว่า ผู้นิมนต์พระไปฉัน ถ้าระบุชื่อโภชนะ เช่นบอกว่า นิมนต์ไปฉันไก่ย่าง นิมนต์ไปฉันหมูสะเต๊ะ นิมนต์ไปฉันก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น พระรับนิมนต์ไปฉัน มีความผิด (ภาษาพระว่า “ต้องอาบัติ”) ตามสิกขาบทที่อ้างข้างต้นนั้น ฐานความผิดคือ “รับนิมนต์ที่ออกชื่อโภชนะ”

ผู้นิมนต์พระที่รู้วินัยพระ จึงนิมนต์เป็นคำกลาง ๆ ไม่ระบุชื่ออาหาร คำที่ใช้กันอยู่คือ นิมนต์ฉันภัตตาหารเช้า นิมนต์ฉันภัตตาหารเพล หรือ นิมนต์ฉันเช้า นิมนต์ฉันเพล เท่านี้ก็เป็นอันถูกต้อง นิมนต์แบบนี้ พระรับนิมนต์ไปฉันได้

…………..

สตฺตุ” อ่านว่า สัด-ตุ รากศัพท์มาจาก สจฺ (ธาตุ = ประชุม, รวมกัน) + ตุ ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น ตฺ 

: สจฺ + ตุ = สจฺตุ > สตฺตุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่รวมตัวกันเป็นก้อน

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สตฺตุ” ว่า ข้าวสัตตุ, ข้าวตู

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺตุ” ว่า barley-meal, flour (ข้าวตู, แป้ง) 

บาลี “สตฺตุ” สันสกฤตเป็น “สกฺตุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สกฺตุ : (คำนาม) ‘สักตุ,’ ข้าวขั้วป่น; rice fried and ground.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ศกฺตุ” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –

ศกฺตุ : (คำนาม) ‘ศักตุ,’ แป้ง (ข้าวและพืชอื่น); the flour (of barley and other grain).”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สัตตุ” และ “สัตตู” ไว้ บอกไว้ว่า – 

สัตตุ, สัตตู : (คำนาม) ข้าวตู. (ป. สตฺตุ; ส. สกฺตุ).”

ที่คำว่า “ข้าวตู” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ข้าวตู : (คำนาม) ข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผงเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว.”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “สัตตุ” และ “สัตตุผง สัตตุก้อน” บอกไว้ดังนี้ –

(1) สัตตุ : ข้าวคั่วผง, ขนมผง ขนมแห้งที่ไม่บูด เช่น ขนมที่เรียกว่าจันอับและขนมปัง เป็นต้น 

(2) สัตตุผง สัตตุก้อน : ข้าวตู เสบียงเดินทางที่สองพ่อค้า คือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ขณะที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “ตปุสสะ” และ “ภัลลิกะ” ขยายความเรื่องนี้ให้ละเอียดขึ้น ขอยกคำอธิบายที่คำว่า “ตปุสสะ” มาเสนอ ดังนี้ –

…………..

ตปุสสะ : พ่อค้าที่มาจากอุกกลชนบท คู่กับภัลลิกะ พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชายตนะภายหลังตรัสรู้ใหม่ ๆ ได้ถวายเสบียงเดินทาง คือข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ที่เรียกว่า เทฺววาจิก 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนมีปัญญา 

เปลี่ยนเสบียงทางให้เป็นเสบียงบุญ

: คนคิดแต่กำไรขาดทุน 

เปลี่ยนวิธีทำบุญเป็นวิธีหาเงิน

#บาลีวันละคำ (4,619)

3-2-68

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *