บาลีวันละคำ

อปโลกน์ (บาลีวันละคำ 1,990)

อปโลกน์

ไม่ใช่คำอนุญาตให้ญาติโยมกินข้าววัดได้

อ่านว่า อะ-ปะ-โหฺลก

อปโลกน์” บาลีเป็น “อปโลกน” อ่านว่า อะ-ปะ-โล-กะ-นะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, หลีกออก) + โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ดู, แลดู) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อป + โลกฺ = อปโลกฺ + ยุ > อน = อปโลกน แปลตามศัพท์ว่า “การมองออกไป” หมายถึง การขออนุญาต, การบอกลา; คำปรึกษาหารือ (permission, leave; consultation)

อปโลกน” ออกจากคำกริยาว่า “อปโลเกติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อปโลเกติ” ไว้ดังนี้ –

(1) to look ahead, to look before, to be cautious, to look after (แลดู, มองดูข้างหน้า, ระมัดระวัง, ดูแล)

(2) to look up to, to obtain permission from; to get leave, to give notice of (บอกลา, ได้รับอนุญาต; ได้รับอนุมัติ, ประกาศให้ทราบ)

อปโลกน” ในภาษาไทยใช้เป็น “อปโลกน์” และมักออกเสียงเพี้ยนเป็น “อุปโลกน์” (อุบ-ปะ-โหฺลก)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อปโลกน์ ๑, อุปโลกน์ : (คำกริยา) ยกกันขึ้นไป เช่น อุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้า. (ป. อปโลกน).

(2) อปโลกน์ ๒ : (คำวิเศษณ์) ที่บอกเล่า เช่น คําอปโลกน์. (ป. อปโลกน).

คำที่เนื่องมาจาก “อปโลกน” อีกคำหนึ่ง คือ “อปโลกนกมฺม” (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ-มะ) แปลว่า กรรมคือการแจ้งให้ทราบ, การได้รับอนุญาต (proposal of a resolution, obtaining leave)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อปโลกนกรรม” เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

Apalokanakamma : the act of obtaining consent or permission by consultation.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อปโลกนกรรม” ไว้ดังนี้ –

อปโลกนกรรม : กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติ คือคำเผดียง ไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่นประกาศลงพรหมทัณฑ์ นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น.”

…………..

อภิปราย :

สรุปว่า “อปโลกน์” หมายถึงการที่สงฆ์ประกาศมติหรือข้อตกลงเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สงฆ์ด้วยกันรับทราบ

ในการทำบุญวันพระตามวัดทั่วไป มีการถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ เรียกรู้กันว่า “ถวายสังฆทาน” เมื่อกล่าวคำถวายแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจะกล่าวคำอปโลกน์ คือการประกาศว่าสงฆ์จะทำอย่างไรกับของที่มีผู้ถวายเป็นของสงฆ์

บางท่านเข้าใจว่า ถวายสังฆทาน ถ้าไม่อปโลกน์ก็ไม่เป็นสังฆทาน

คำอปโลกน์แจกอาหาร หรืออปโลกน์หลังถวายสังฆทาน มีดังนี้

(ตั้งนะโมสามจบ)

อะยัง  ปะฐะมะภาโค  เถรัสสะ ปาปุณาติ,  อะวะเสสา ภาคา  อัมหากัง  ปาปุณันติ.

ทุติยัมปิ … ฯลฯ … อัมหากัง  ปาปุณันติ.

ตะติยัมปิ … ฯลฯ … อัมหากัง  ปาปุณันติ.

ความหมายในคำอปโลกน์นั้นมีอยู่ว่า – สิ่งของส่วนแรกนี้ยกให้แก่พระเถระ (คือพระภิกษุที่เป็นประธานอยู่ในที่ประชุมนั้น) ส่วนที่เหลือตกเป็นของพวกเราคือพระสงฆ์สามเณรทั้งหลาย

บางแห่งมีคำอปโลกน์เป็นภาษาไทยด้วย มีสำนวนน่าฟังดี ขอยกมาสู่กันฟังดังนี้ –

………

ยัคเฆ  ภันเต   สังโฆ  ชานาตุ  ขอพระสงฆ์ทั้งปวงจงฟังคำข้าพเจ้า

บัดนี้ ทายกทายิกาผู้มีจิตศรัทธาได้น้อมนำมาซึ่งภัตตาหารมาถวายเป็นสังฆทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันว่าสังฆทานนี้ย่อมมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ สมเด็จพระพุทธองค์จะได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นของภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็หามิได้ เพราะเป็นของได้แก่สงฆ์ทั่วสังฆมณฑล พระพุทธองค์ตรัสว่าให้แจกกันตามบรรดาที่มาถึง

ฉะนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าจะสมมติตนเป็นผู้แจกของสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งปวงจะเห็นสมควรหรือไม่เห็นสมควร ถ้าเห็นว่าไม่เป็นการสมควรแล้วไซร้ ขอจงได้ทักท้วงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์อย่าได้เกรงใจ ถ้าเห็นว่าเป็นสมควรแล้วก็จงเป็นผู้นิ่งอยู่ (หยุดนิดหนึ่ง) บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าจักรู้ได้ว่าเป็นการสมควรแล้ว จะได้ทำการแจกของสงฆ์ต่อไป ณ กาลบัดนี้

อะยัง  ปะฐะมะภาโค  มะหาเถรัสสะ  ปาปุณาติ  ส่วนที่ ๑ ย่อมถึงแก่พระเถระผู้ใหญ่ผู้อยู่เหนือข้าพเจ้า

อะวะเสสา  ภาคา  อัมหากัง  ปาปุณนฺติ  ส่วนที่เหลือจากพระเถระผู้ใหญ่แล้วย่อมถึงแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตามบรรดาที่มาถึงพร้อมกันทุกๆ รูป (ตลอดถึงสามเณรด้วย) เทอญ

………

จะเห็นได้ว่า ใจความในคำอปโลกน์ก็เป็นแต่เพียงสงฆ์ตกลงกันว่าจะแจกของกันอย่างไรเท่านั้น

สิ่งของ (ทั้งของฉันและของใช้) เมื่อผู้ถวายตั้งเจตนาถวายให้เป็นของสงฆ์และได้มอบถวายไปเสร็จแล้ว ก็เป็น “สังฆทาน” ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าสงฆ์จะต้องทำอปโลกนกรรม (อปโลกน์) เสียก่อนจึงจะสำเร็จเป็นสังฆทาน

อปโลกน์ จึงมิใช่พิธีกรรมเพื่อทำของสิ่งนั้นให้เป็นของสงฆ์ หรือเพื่อให้สำเร็จเป็นสังฆทาน ดังที่บางคนเข้าใจ

บางท่านไปทำบุญวันพระที่วัด ถ้าวัดไหนไม่อปโลกน์ ก็จะไม่กินข้าววัดนั้น อ้างว่ากินของสงฆ์เป็นบาป เนื่องจากสงฆ์ยังไม่ได้อนุญาตด้วยการอปโลกน์

เพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ต้องอปโลกน์เสียก่อนญาติโยมชาวบ้านจึงจะสามารถรับประทานอาหารหลังจากพระสงฆ์ฉันแล้วได้ บางวัดจึงเพิ่มข้อความในคำอปโลกน์ที่เป็นภาษาไทยเข้าไปอีก เช่นว่า …. เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว อาหารเหล่านี้ขอให้ตกเป็นของญาติโยมอุบาสกอุบาสิการับประทานกันต่อไป …. อะไรทำนองนี้

ความจริงแล้ว อาหารที่เหลือจากพระสงฆ์ฉัน ไม่ว่าจะเป็นของที่ตักฉันแล้วหรือไม่ได้ตักฉันเลยก็ตาม (เว้นไว้แต่ส่วนที่เก็บกันเอาไว้ฉันมื้อเพล) เป็นของที่เรียกว่า “เป็นเดน” โดยหลักพระวินัยแล้วพระสงฆ์จำต้องสละสิทธิ์ คือต้องทิ้งไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระจะอปโลกน์หรือไม่อปโลกน์ ญาติโยมชาวบ้านก็สามารถรับประทานได้อยู่แล้ว มิใช่ว่าต้องอปโลกน์เสียก่อนจึงจะรับประทานได้

ศึกษาดูคำอปโลกน์ที่เป็นภาษาบาลีก็จะเห็นได้แล้วว่า เป็นคำที่สงฆ์ท่านแจกของกัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องอนุญาตให้ญาติโยมรับประทานได้แต่ประการใดเลย

อปโลกน์จึงไม่ใช่พิธีกรรมเพื่อทำให้ญาติโยมชาวบ้านสามารถรับประทานอาหารที่ถวายเป็นของสงฆ์แล้วได้ ดังที่บางคนเข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดีทำได้ทุกลมหายใจ

: ไม่ต้องรอให้ใครมาอปโลกน์

#บาลีวันละคำ (1,990)

23-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย