บาลีวันละคำ

อุทกพุพฺพุล (บาลีวันละคำ 2,938)

อุทกพุพฺพุล

เรียนบาลีวันละคำจากอุปมาชีวิต

…………..

ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่ง ชื่อ “อรกานุสาสนีสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71) พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย 60,000 ปี (หกหมื่นปี) มีครูสอนศาสนาท่านหนึ่งชื่อ “อรกะ” ประพฤติธรรมถึงระดับสิ้นกามราคะ

ครูอรกะสอนสาวกว่าด้วยเรื่องชีวิตว่า ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

ครูอรกะเปรียบความน้อยนิดแห่งชีวิตมนุษย์ (ในยุคที่มีอายุขัยหกหมื่นปี! !) ด้วยข้ออุปมา 7 อย่าง

อุทกพุพฺพุล” เป็น 1 ในข้ออุปมาทั้ง 7 นั้น

หวังว่าเราท่านคงมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนอุปมาชีวิตเป็นบาลีวันละคำจนครบทั้ง 7 คำ

อุทกพุพฺพุล” อ่านว่า อุ-ทะ-กะ-พุบ-พุ-ละ ประกอบด้วยคำว่า อุทก + พุพฺพุล

(๑) “อุทก

บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบสระที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)

: อุทิ + ณฺวุ = อุทิณฺวุ > อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)

(๒) “พุพฺพุล

อ่านว่า พุบ-พุ-ละ ในขณะที่เขียนคำนี้ยังไม่พบตำราที่แสดงรากศัพท์ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก – (ขอแรงท่านผู้รู้ช่วยบูรณาการที่มาของศัพท์นี้ให้ด้วย)

(1) พุลฺ (ธาตุ = ดำลง, จมลง) + (อะ) ปัจจัย, ทำเทวภาวะ (อ่านว่า ทะ-เว-พา-วะ) คือซ้อนพยางค์แรกของธาตุให้เป็น 2 พยางค์ (พุลฺ > พุพุลฺ) และซ้อน พฺ ระหว่างพยางค์แรกกับพยางค์หลัง (พุ + พฺ + พุ)

: พุลฺ + = พุล > พุพุล [พุ + พฺ + พุ] > พุพฺพุล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จมลง

(2) พิลฺ (ธาตุ = แตก, ขาด, สลาย) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ต้นธาตุเป็น อุ แล้วทำเทวภาวะ (ทะ-เว-พา-วะ) คือซ้อนพยางค์แรกของธาตุให้เป็น 2 พยางค์ (พิลฺ > พุลฺ > พุพุลฺ) และซ้อน พฺ ระหว่างพยางค์แรกกับพยางค์หลัง (พุ + พฺ + พุ)

: พิลฺ + = พิล > พุล > พุพุล [พุ + พฺ + พุ] > พุพฺพุล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แตกไป

พุพฺพุล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ฟอง เช่นฟองน้ำ (a bubble)

คำว่า “พุพฺพุล” เขียนเป็นอักษรโรมันเป็น bubbula

โปรดสังเกตคำอังกฤษ bubble

bubbula : bubble มาจากรากเดียวกันแน่นอน

อุทก + พุพฺพุล = อุทกพุพฺพุล (อุ-ทะ-กะ-พุบ-พุ-ละ) แปลว่า “ฟองน้ำ” (a water-bubble)

คำว่า “ฟองน้ำ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฟอง ๑, ฟองน้ำ ๑ : (คำนาม) ต่อมนํ้าที่ผุดหรือปุดขึ้นเป็นรูปโป่ง ๆ อาจเป็นต่อมเดียว หรือรวมกันเป็นแพก็ได้.”

อธิบายขยายความ :

ธรรมชาติของฟองน้ำก็คือ แตกง่าย

ฝนตกทำให้เกิดฟองน้ำ

แต่เม็ดฝนนั่นเองก็ทำให้ฟองน้ำแตกไปง่ายๆ

ชีวิตมนุษย์น้อยนิดเหมือนฟองน้ำอย่างไร พระสูตรขยายความไว้ว่า

…………..

เมื่อฝนตกหนักหนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกไปโดยพลัน ไม่อยู่ได้นาน แม้ฉันใด

ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายก็น้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก อุปมาเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชีวิตเลือดเนื้อที่อยู่เปล่าๆ ร้อยปี

: ไม่ประเสริฐเท่าที่ใช้ทำความดีเพียงวันเดียว

#บาลีวันละคำ (2,938)

28-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *