บาลีวันละคำ

ปาทังกา (บาลีวันละคำ 3,582)

ปาทังกา

คำใกล้ๆ ไม่รู้จัก แต่ไปรักคำไกล

อ่านว่า ปา-ทัง-กา

แต่เวลาออกเสียงจริง มักเป็น ปา-ทัง-ก้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปาทังกา : (คำนาม) ชื่อตั๊กแตนชนิด Patanga succincta (Linn.) ในวงศ์ Acrididae ลำตัวยาว ๖-๗ เซนติเมตร กว้าง ๗-๘ มิลลิเมตร สีแตกต่างกันไปเป็นสีนํ้าตาล นํ้าตาลแก่ มีแถบสีครีมพาดจากหัวไปทางด้านหลังปล้องอกจนถึงปีก ขอบตาด้านหน้าและด้านหลังมีแถบสีครีมพาดยาวลงมา ปีกมีจุดและรอยด่างกระจายทั่วไป อาจพบอยู่เดี่ยว ๆ หรือเป็นฝูง กัดกินพืชต่าง ๆ.”

ถามว่า “ปาทังกา” เป็นภาษาอะไร?

จะตอบว่าอย่างไร

ในภาษาบาลีมีคำว่า “ปฏงฺค” อ่านว่า ปะ-ตัง-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปฏํ (เสียงธรรมชาติดังปฏะๆ) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ (ป)-ฏํ เป็น งฺ (ปฏํ > ปฏงฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: ปฏํ + คมฺ = ปฏํคมฺ + กฺวิ = ปฏํคมกฺวิ > ปฏํคม > ปฏํค > ปฏงฺค แปลตามศัพท์ว่า “แมลงที่บินไปดังปฏะๆ”

(2) ปตํ (จากคำกริยากิตก์ว่า “ปตนฺต” = ตกลงไป แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ปตํ”) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ (ป)-ตํ เป็น งฺ (ปตํ > ปตงฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, แปลง ต เป็น ฏ

: ปตํ + คมฺ = ปตํคมฺ + กฺวิ = ปตํคมกฺวิ > ปตงฺคมกฺวิ > ปตงฺคม > ปตงฺค > ปฏงฺค แปลตามศัพท์ว่า “แมลงที่โผลงไป”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปฏงฺค” ว่า ตั๊กแตน (ปาตังก้า)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏงฺค” ว่า a grasshopper (ตั๊กแตน)

อภิปรายขยายความ :

คำแปลตามหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ฯ สะกดคำในวงเล็บเป็น “ปาตังก้า” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดคำนี้เป็น “ปาทังกา”

ค้นคำ ตั๊กแตนปาทังกา จาก google พบในที่หนึ่งแปลเป็นคำอังกฤษว่า Bombay locust

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปาทังกา” เป็นชื่อตั๊กแตนชนิด Patanga succincta (Linn.) ในวงศ์ Acrididae

ค้นคำ Patanga succincta ใน Wikipedia ภาคภาษาอังกฤษ มีคำอธิบายขึ้นต้นว่า –

…………..

Patanga succincta, the Bombay locust, is a species of locust found in India and south-east Asia. … (ปาทังกาเป็นตั๊กแตนสายพันธุ์หนึ่ง พบในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ …)

…………..

เท่าที่แสดงมา เห็นได้ชัดว่า “ปาทังกา” ที่คำอังกฤษสะกดเป็น Patanga กับคำบาลี “ปฏงฺค” มาจากรากเดียวกันแน่นอน ที่บอกว่าเป็นตั๊กแตนที่พบในอินเดียก็ยิ่งทำให้แน่ใจยิ่งขึ้น

คนอินเดียคงเรียกตั๊กแตนชนิดนี้ว่า “ปฏงฺค” (ซึ่งในภาษาอินเดียปัจจุบันอาจสะกดเป็นอย่างอื่น) แต่ออกเสียงแบบสำเนียงอินเดีย ฝรั่งที่ได้ยินคำนี้เอาเสียงไปสะกดเป็นอักษรฝรั่งว่า Patanga แล้วคนไทยก็ออกเสียงตามฝรั่งว่า ปาตังก้า (ซึ่งพจนานุกรมฯ สะกดเป็น “ปาทังกา”)

คำบาลี “ปฏงฺค” ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมัน (คืออักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ) ก็จะสะกดเป็น Paṭanga (โปรดสังเกตตัว ṭ มีจุดข้างใต้ เป็นเครื่องหมายบังคับให้ ṭ = ฏ ปฏัก ถ้าเป็น t ธรรมดา t = ต เต่า)

Paṭanga อ่านว่า ปะ-ตัง-คะ ถ้าจะให้ได้เสียง ปา-ตัง-ก้า จะต้องสะกดเป็น Pāṭankā ซึ่งจะกลายเป็นคนละคำไป

บาลีมี “ปฏงฺค” = Paṭanga มาตั้งนานเนกาเล แต่คนไทยไม่รู้จัก แต่พอฝรั่งเอาคำว่า Patanga มาพูด เราก็เฮโลพูดตามว่า ปาตังก้า กันทั้งเมือง

และเชื่อได้เลยว่า คนไทยรู้จัก “ปาทังกา” ที่พากันออกเสียงเป็น ปา-ตัง-ก้า กันทั่วไป แต่ไม่มีใครนึกถึงหรือรู้จัก “ปฏงฺค” ในบาลี

นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา การศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเผยแผ่ให้แพร่หลาย ถ้าไม่เข้มแข็งเข้มข้น ผลก็ย่อมเป็นเช่นนี้อยู่เองเป็นธรรมดา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักเพราะรู้ มั่นคง

: รักเพราะหลง คลอนแคลน

03-04-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *