กำลังของพระศาสนาในอนาคต
กำลังของพระศาสนาในอนาคต
เราตั้งความหวังกันไว้ว่า พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนบาลีกันอยู่ในเวลานี้จะเป็นกำลังของพระศาสนาในอนาคต
แต่คำว่า “กำลังของพระศาสนา” ก็ยังไม่ชัดเจน ยังพร่ามัวอยู่
ถามว่า-จะเป็นกำลังได้อย่างไร คือเรียนบาลีจบแล้วจะให้ท่านไปทำอะไร หรือจะให้ท่านไปเป็นอะไร ท่านจึงจะได้เป็น “กำลังของพระศาสนา”?
ไม่มีใครตอบให้ชัดเจนได้
ได้แต่พูดรวมๆ ไปว่า-ท่านเป็นความหวังของพระศาสนา หรือที่ชัดลงไปอีกหน่อยก็ว่า-ท่านจะเป็นผู้บริหารการพระศาสนาในอนาคต
แต่ก็ยังคงไม่รู้อยู่นั่นเองว่า-แล้วจะให้ท่านไปทำอะไร ทำตรงไหน ทำเมื่อไร ทำอย่างไร ท่านจึงจะได้เป็นผู้บริหารการพระศาสนาที่เราวาดหวัง
ได้แต่ตั้งความหวังแบบบุญทำกรรมแต่งว่า-เมื่อท่านเรียนถึงประโยคนั้นๆ มีความรู้ถึงขั้นนั้นๆ ท่านก็จะได้ใช้ความรู้ไปทำอย่างนั้นๆ ท่านก็จะนึกถึงบุญคุณของพระศาสนา แล้วก็จะหวนกลับมาเป็นกำลังของพระศาสนา
คำถามนี้ คณะสงฆ์-ชี้ลงไปที่มหาเถรสมาคม-ควรต้องมีคำตอบที่ชัดเจน
ผู้บริหารการพระศาสนาในวันนี้ต้องมีแผน ต้องวางแผน ต้องเตรียมแผนไว้พร้อมแล้วในการที่จะใช้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนบาลีกันอยู่ในเวลานี้ให้ไปทำอะไร-ที่จะเรียกได้ว่าเป็น “กำลังของพระศาสนา”
ผมเชื่อว่า ผู้บริหารการพระศาสนาของเราไม่เคยมีแผนอะไรทั้งสิ้น
วัดแต่ละวัดจะเรียนบาลีกันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน
นักเรียนบาลีจะมาจากไหน จะอยู่กันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน
ระบบการเรียนการสอน จะได้มาตรฐานหรือไม่ จะกำกับดูแลกันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน
ขาดครู ขาดนักเรียน จะแก้ไขกันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน วัดใคร ใครก็แก้ปัญหากันเอาเอง
งบประมาณ-ค่าใช้จ่าย จะได้มาจากไหน ไม่รู้ แล้วแต่จะหากันเอง ไม่เกี่ยวกับคณะสงฆ์
ผู้ที่เรียนจบประโยค ๙ แล้ว จะเอาไปใช้งานอะไร หรือจะหางานอะไรให้ทำ คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน
สิ่งที่คณะสงฆ์ทำ มีอยู่อย่างเดียวก็คือ จัดการสอบ
ก่อนสอบ ไปยังไงมายังไง ไม่รู้ ไม่รับรู้
หลังสอบแล้ว จะไปทำอะไรที่ไหนยังไง ไม่รู้ ไม่รับรู้
…………………
ข้อเสนอของผมก็คือ คณะสงฆ์ต้องกำหนดแผนให้ชัดเจน
ศักดิ์และสิทธิ์ที่กำหนดให้กัน ก็ยังคงให้กันต่อไป
ใครจะใช้เป็นสะพานข้ามไปไหน ก็เชิญตามอัธยาศัย
แต่ประกาศออกมาให้ชัดๆ ว่า คณะสงฆ์ไทยจะสนับสนุนผู้เรียนบาลีให้มุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ
ใคร สำนักไหนส่งเสริมสนับสนุนการเรียนบาลีแบบเดิม ก็ส่งเสริมสนับสนุนกันต่อไปได้เต็มที่
แต่ขอแรงให้ช่วยกัน “ต่อยอด” ให้ผู้เรียนอีกยอดหนึ่ง – นั่นคือ ส่งเสริมสนับสนุนให้เรียนบาลีเพื่อมุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎกด้วย
พูดกันชัดๆ คณะสงฆ์ไทยต้องสร้างและผลิตผู้เรียนบาลีที่มุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎกเพื่อรักษาพระศาสนา
ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นตามศรัทธาของใครของมัน บังคับกันไม่ได้-อย่างที่ออกมาปกป้องกัน
ที่เป็นมา เรารอให้มีพระภิกษุสามเณรที่จะเป็นกำลังของพระศาสนาเกิดขึ้นเองตามบุญตามกรรมตามศรัทธา
แต่ต่อไปนี้ คณะสงฆ์จะต้องสร้างและผลิตขึ้นมาตามแผนที่กำหนดขึ้น
ถ้ายังไม่มีแผน ก็จงรีบมีตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ถ้ายังไม่เคยคิด ต้องรีบคิดตั้งแต่วันนี้
หมดเวลา หมดสมัยแล้วกับการ-นั่งทับตำแหน่งกันนิ่งๆ รอให้บุญกรรมจัดสรรอย่างเดียว
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๓
๑๖:๔๗