บาลีวันละคำ

ทณฺฑราชี (บาลีวันละคำ 2,939)

ทณฺฑราชี

เรียนบาลีวันละคำจากอุปมาชีวิต

…………..

ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่ง ชื่อ “อรกานุสาสนีสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71) พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย 60,000 ปี (หกหมื่นปี) มีครูสอนศาสนาท่านหนึ่งชื่อ “อรกะ” ประพฤติธรรมถึงระดับสิ้นกามราคะ

ครูอรกะสอนสาวกว่าด้วยเรื่องชีวิตว่า ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

ครูอรกะเปรียบความน้อยนิดแห่งชีวิตมนุษย์ (ในยุคที่มีอายุขัยหกหมื่นปี! !) ด้วยข้ออุปมา 7 อย่าง

ทณฺฑราชี” เป็น 1 ในข้ออุปมาทั้ง 7 นั้น

หวังว่าเราท่านคงมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนอุปมาชีวิตเป็นบาลีวันละคำจนครบทั้ง 7 คำ

ทณฺฑราชี” อ่านว่า ทัน-ดะ-รา-ชี ประกอบด้วยคำว่า ทณฺฑ + ราชี

(๑) “ทณฺฑ

อ่านว่า ทัน-ดะ (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก –

(1) ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ข่ม, ทรมาน) + ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ

: ทมฺ > ทณ + = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน

(2) ทฑิ (ธาตุ = ตี, ประหาร) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ, ลบ และสระที่สุดธาตุ

: ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี

ทณฺฑ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลำต้นไม้, ไม้, ไม้ที่ทำเป็นอะไรขึ้นมา เช่น ด้าม ฯลฯ (stem of a tree, wood, wood worked into something, e. g. a handle, etc.)

(2) ไม้พยุงกายเวลาเดิน, ไม้ถือ, ไม้ค้ำ, ไม้เท้า; ไม้พลอง (a stick, staff, rod, to lean on, & as support in walking; the walking-stick of a Wanderer)

(3) ไม้เรียว, การตี, การเฆี่ยน (a stick as means of punishment, a blow, a thrashing)

(4) ท่อนไม้ที่ใช้เป็นอาวุธ (a stick as a weapon in general) in

(5) วิธีทำให้ตกใจ, ความกลัว, ความรุนแรง, การแกล้ง (a means of frightening, frightfulness, violence, teasing)

(6) สินไหม, ทัณฑ์, การลงโทษหรือทรมานตนเองโดยทั่ว ๆ ไป (a fine, a penalty, penance in general)

ในที่นี้ “ทณฺฑ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) คือ ไม้, ไม้ที่ทำเป็นอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง (wood, wood worked into something)

(๒) “ราชี

รูปคำบาลีปกติเป็น “ราชิ” (สระ อิ) อ่านว่า รา-ชิ รากศัพท์มาจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย

: ราชฺ + อิ = ราชิ แปลตามศัพท์ว่า “แนวที่ชัดเจน” หมายถึง รอย, แนว, แถว (a streak, line, row)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ราชิ” “ราชี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

ราชิ, ราชี : (คำนาม) ทาง, สาย, แถว, เช่น รุกขราชี. (ป., ส.).”

“รุกขราชี” ในพจนานุกรมฯ แปลว่า “แนวต้นไม้” คือไม้ที่ปลูกหรือขึ้นเป็นแนว

ในที่นี้ขอใช้ว่า “ราชี” (สระ อี) เพื่อให้กลมกลืนกับคำที่เราใช้กันคำหนึ่งคือ “สังฆราชี” ซึ่งแปลว่า “รอยร้าวในหมู่สงฆ์” หมายถึง สงฆ์ถูกทำให้แตกกัน ถ้าสงฆ์แตกกัน เรียกว่า “สังฆเภท” จัดเป็นอนันตริยกรรมข้อหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นแตก เป็นเพียงเกิดรอยร้าว เรียกว่า “สังฆราชี” (ไม่ใช่ “สังฆราชิ”) ยังไม่เป็นอนันตริยกรรม

ทณฺฑ + ราชี = ทณฺฑราชี (ทัน-ดะ-รา-ชี) แปลว่า “รอยไม้” หมายถึง รอยไม้ที่ขีดลงไปในที่ใดที่หนึ่ง โดยเฉพาะที่ขีดลงไปในน้ำ

อธิบายขยายความ :

ถ้าเรามีไม้ถือไว้ในมือชิ้นหนึ่ง ไปยืนอยู่ในน้ำ แล้วเอาไม้นั้นสมมุติว่าเป็นปากกาขีดเขียนลงไปในน้ำ พอยกไม้ขึ้น รอยขีดเขียนในน้ำก็หายไปทันที แทบไม่ทันได้เห็นว่าเขียนเป็นรูปรอยอะไร

ชีวิตมนุษย์น้อยนิดเหมือน “ทณฺฑราชี” = รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำนั่นแล สำนวนในพระสูตรบรรยายว่า

…………..

รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่เห็นเป็นรอยอยู่ได้นาน แม้ฉันใด

ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายก็น้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก อุปมาเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉันนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักกันให้มั่นคงเหมือนรอยสลักลงบนหินผา

: ชังกันให้พลันละลายลับลาเหมือนรอยไม้บนสายธาร

#บาลีวันละคำ (2,939)

29-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *