บาลีวันละคำ

นทีปพฺพเตยฺย (บาลีวันละคำ 2,940)

นทีปพฺพเตยฺย

เรียนบาลีวันละคำจากอุปมาชีวิต

…………..

ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่ง ชื่อ “อรกานุสาสนีสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71) พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย 60,000 ปี (หกหมื่นปี) มีครูสอนศาสนาท่านหนึ่งชื่อ “อรกะ” ประพฤติธรรมถึงระดับสิ้นกามราคะ

ครูอรกะสอนสาวกว่าด้วยเรื่องชีวิตว่า ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

ครูอรกะเปรียบความน้อยนิดแห่งชีวิตมนุษย์ (ในยุคที่มีอายุขัยหกหมื่นปี! !) ด้วยข้ออุปมา 7 อย่าง

นทีปพฺพเตยฺย” เป็น 1 ในข้ออุปมาทั้ง 7 นั้น

หวังว่าเราท่านคงมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนอุปมาชีวิตเป็นบาลีวันละคำจนครบทั้ง 7 คำ

นทีปพฺพเตยฺย” อ่านว่า นะ-ที-ปับ-พะ-เตย-ยะ ประกอบด้วยคำว่า นที + ปพฺพเตยฺย

(๑) “นที” รากศัพท์มาจาก –

(1) นทฺ (ธาตุ = ส่งเสียงไม่ชัดเจน) + ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นทฺ + = นท + อี = นที แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงทุกขณะ

(2) นทฺ (ส่งเสียง) + อิ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นท + อิ = นทิ + อี = นที แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงไปพลาง” (ไหลไปด้วย ส่งเสียงไปด้วย)

นที” (อิตถีลิงค์) หมายถึง แม่น้ำ (a river)

(๒) “ปพฺพเตยฺย

อ่านว่า ปับ-พะ-เตย-ยะ รากศัพท์มาจาก ปพฺพต + เอยฺย ปัจจัย

(ก) “ปพฺพต” (ปับ-พะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม, ทำให้เต็ม) + (ตะ) ปัจจัย

: ปพฺพฺ + = ปพฺพต แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่เพิ่มเข้ามา

(2) ปพฺพ (ปุ่ม, ปล้อง) + (ตะ) ปัจจัย

: ปพฺพ + = ปพฺพต แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปุ่มเพราะก่อตัวขึ้นด้วยปุ่มคือเทือกต่อกัน” (หมายถึงมียอดหลายยอดยาวต่อกันเป็นเทือก)

ปพฺพต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) บรรพต, ภูเขา, หิน (a mountain range, hill, rock) (2) นักไต่เขา (a mountaineer)

(ข) ปพฺพต + เอยฺย = ปพฺพเตยฺย แปลว่า “อันเกิดจากภูเขา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปพฺพเตยฺย” ว่า belonging to mountains, mountain-born [of a river] (เป็นเรื่องของภูเขา, เกิดจากภูเขา [พูดถึงแม่น้ำ])

นที + ปพฺพเตยฺย = นทีปพฺพเตยฺย (นะ-ที-ปับ-พะ-เตย-ยะ) แปลว่า “แม่น้ำอันเกิดจากภูเขา

แวะหลักไวยากรณ์สักครู่ :

ตามปกติ “ปพฺพเตยฺย” (อันเกิดจากภูเขา) เป็นคำขยายของ “นที” (แม่น้ำ) ถ้าเขียนแยกคำก็จะเป็น 2 คำ คือ “นที ปพฺพเตยฺยา” หรือ “ปพฺพเตยฺยา นที

แต่ในที่นี้ท่านสมาสกันเป็น “นทีปพฺพเตยฺย” คำนี้จึงเป็นคำสมาสชนิดที่เรียกว่า “วิเสสนุตตรบท” (วิ-เส-สะ-นุด-ตะ-ระ-บด) คือคำขยายอยู่ท้ายศัพท์

ในทางหลักไวยากรณ์ “นทีปพฺพเตยฺย” มีฐานะเป็นคำคุณศัพท์ คือขยายคำว่า “อุปมา” (อุ-ปะ-มา) และรวมเป็นเดียวกันเป็น “นทีปพฺพเตยฺยูปมา” (นะ-ที-ปับ-พะ-เตย-ยู-ปะ-มา) แปลว่า “ข้ออุปมาด้วยแม่น้ำอันเกิดจากภูเขา

และในที่นี้ “นทีปพฺพเตยฺยูปมา” ก็ใช้เป็นคำขยายอีกทอดหนึ่ง คือขยายคำว่า “ชีวิต” (ชี-วิ-ตะ) รูปคำเต็มเมื่อแจกวิภัตติจึงเป็น “นทีปพฺพเตยฺยูปมํ  ชีวิตํ” (นะ-ที-ปับ-พะ-เตย-ยู-ปะ-มัง ชี-วิ-ตัง) แปลว่า “ชีวิตมีอุปมาเหมือนแม่น้ำอันเกิดจากภูเขา” (ดูข้อความจริงข้างหน้า)

ในที่นี้ตัดมาเฉพาะ “นทีปพฺพเตยฺย

อธิบายขยายความ :

นทีปพฺพเตยฺย” หมายถึง สายน้ำที่ไหลโกรกลงจากยอดเขาสู่พี้นเบื้องล่าง

ตามรูปศัพท์และความหมายเช่นนี้ “นทีปพฺพเตยฺย” เหมาะที่จะหมายถึง น้ำตกชนิดที่ไหลลงจากหน้าผา

ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิดเหมือนสายน้ำที่ไหลโกรกลงจากยอดเขาสู่พื้นเบื้องล่าง (น้ำตกจากผา) เป็นเช่นไร พึงสดับสำนวนในพระสูตรที่ท่านบรรยายไว้ ดั่งนี้ –

…………..

นที  ปพฺพเตยฺยา  ทูรงฺคมา  สีฆโสตา  หารหารินี  นตฺถิ  โส  ขโณ  วา  ลโย  วา  มุหุตฺโต  วา  ยํ  สา  ธรติ  อถโข  สา  คจฺฉเต จ  วตฺตเต  จ  สนฺทเต  จ  เอวเมว  โข  พฺราหฺมณ  นทีปพฺพเตยฺยูปมํ  ชีวิตํ  มนุสฺสานํ  ปริตฺตํ  ลหุกํ  พหุทุกฺขํ  พหูปายาสํ  มนฺตาย  โผฏฺฐพฺพํ  กตฺตพฺพํ  กุสลํ  จริตพฺพํ  พฺรหฺมจริยํ  นตฺถิ  ชาตสฺส  อมรณํ.

แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยวกราก พัดพาสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีเวลาสักขณะเดียวหรือหรือชั่วครู่เดียวที่มันจะหยุด ที่แท้มีแต่จะไหลรุดไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด

ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายก็อุปมาเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่เพียงน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: น้ำตกจากผา ยังมีคนอุตส่าห์ดั้นด้นไปดูไปเที่ยวพักผ่อน

: ชีวิตท่านเมื่อตกถึงเชิงตะกอน เหลืออะไรมั่งไว้ให้คนข้างหลังไปดู?

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

#บาลีวันละคำ (2,940)

30-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *