หัตถกรรม [2] (บาลีวันละคำ 2,328)
หัตถกรรม [2]
ความหมายตามพระธรรมวินัย
อ่านว่า หัด-ถะ-กำ
แยกศัพท์เป็น หัตถ + กรรม
(๑) “หัตถ”
บาลีเป็น “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
หตฺถ + กมฺม = หตฺถกมฺม (หัด-ถะ-กำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทำด้วยมือ” หมายถึง งานที่ทำด้วยมือ, อาชีพที่ต้องใช้มือ, ฝีมือ, งานที่ต้องใช้แรง (manual work, craft, workmanship, labour)
“หตฺถกมฺม” ในภาษาไทยใช้ว่า “หัตถกรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถกรรม : (คำนาม) งานช่างที่ทำด้วยมือ โดยถือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก. (ป. หตฺถ + ส. กรฺมนฺ; ป. หตฺถกมฺม).”
ดูเพิ่มเติม: “หัตถกรรม” [1] บาลีวันละคำ (1,830) 12-6-60
ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) บอกว่า “หัตถกรรม” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า handicraft
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล handicraft เป็นบาลีดังนี้
(1) hatthakamma หตฺถกมฺม (หัด-ถะ-กำ-มะ) = งานที่ต้องใช้มือทำ, งานที่ต้องใช้แรงงาน
(2) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = งานฝีมือ, ความสามารถทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยใช้ฝีมือ
“หตฺถกมฺม” ในพระธรรมวินัย :
ในคัมภีร์มีคำว่า “หตฺถกมฺม” อยู่ทั่วไป ความหมายของคำนี้คือ งานที่ต้องใช้ฝีมือแรงงาน และหมายรวมถึงคนงานที่ทำงานเช่นนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสร้างและปฏิสังขรณ์ (ซ่อมแซม) อาคารสถานที่
เมื่อคราวทำปฐมสังคายนาที่เมืองราชคฤห์ (หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน) คณะสงฆ์มีมติให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะของสงฆ์ที่ทรุดโทรมจำนวน 18 แห่ง
วิธีปฏิสังขรณ์ทำอย่างไร?
ในคัมภีร์เล่าไว้ว่า คณะสงฆ์ไปแจ้งแก่พระเจ้าอชาตศัตรูขอ “หตฺถกมฺม” เพื่อปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ก็คือขอกำลังคนคือช่างและคนงานจากทางบ้านเมืองนั่นเอง และพระเจ้าอชาตศัตรูก็พระราชทานตามที่ขอ
งานทั้งปวงที่ไม่เหมาะแก่สมณวิสัย ท่านใช้วิธี “ขอหัตถกรรม” จากชาวบ้านหรือจากทางบ้านเมือง หลักการเดียวกับ “ขออารักขา” นั่นเอง (ดูรายละเอียดที่: “ขออารักขา”บาลีวันละคำ (1,021) 5-3-58)
จะเห็นได้ว่า งานสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะในสมัยพุทธกาลนั้นพระสงฆ์ไม่ได้ถลกสบงขัดเขมรเลื่อยไม้ไสกบปีนป่ายหลังคาขึ้นไปทำเองดังที่เรามักเข้าใจเพราะเห็นพระสงฆ์สมัยนี้ทำเช่นนั้น
แต่ในบางกรณี เช่นสถานที่จำพรรษา ท่านว่าถ้าหาที่จำพรรษาที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยได้ก็เป็นการดี ถ้าจำเป็นจะต้องสร้างขึ้นใหม่ ท่านว่าให้ “ขอหัตถกรรม” คือขอแรงญาติโยมให้ช่วยทำให้ ต่อเมื่อสุดวิสัยจริงๆ คือหา “หัตถกรรม” ไม่ได้จริงๆ ท่านจึงอนุญาตให้ทำเองเฉพาะในกรณีนั้น
ผู้บริหารบ้านเมืองที่เป็นสัมมาทิฐิ ตลอดจนชาวบ้านที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ปรารถนาจะช่วยสงเคราะห์ภิกษุให้มีความปลอดโปร่งในการดำรงชีพและไม่เสียสมณสารูปในการปฏิบัติกิจบางอย่าง ทั้งนี้เพื่อภิกษุจะได้อุทิศเวลามุ่งหน้าประพฤติปฏิบัติธรรมได้เต็มกำลัง ย่อมพร้อมอยู่แล้วที่จะถวาย “หัตถกรรม” ในทุกโอกาส
กรณีตัวอย่าง :
พฤติการณ์ที่เริ่มจะปรากฏหนาตาขึ้นในสังคมไทย อย่างเช่นภิกษุขับรถยนต์ด้วยตนเองในการเดินทางไปไหนมาไหน ย่อมชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมท่านจึงขอ “หัตถกรรม” จากญาติโยมไม่ได้ เราจะแก้ปัญหาเช่นนี้กันอย่างไร และใครจะเป็นคนแก้
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าชาววัดอุทิศชีวิตถวายให้พระธรรมวินัย
: มีหรือที่ชาวบ้านจะไม่อุทิศกายใจถวายหัตถกรรม
#บาลีวันละคำ (2,328)
27-10-61