บาลีวันละคำ

มํสเปสี (บาลีวันละคำ 2,942)

มํสเปสี

เรียนบาลีวันละคำจากอุปมาชีวิต

…………..

ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่ง ชื่อ “อรกานุสาสนีสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71) พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย 60,000 ปี (หกหมื่นปี) มีครูสอนศาสนาท่านหนึ่งชื่อ “อรกะ” ประพฤติธรรมถึงระดับสิ้นกามราคะ

ครูอรกะสอนสาวกว่าด้วยเรื่องชีวิตว่า ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

ครูอรกะเปรียบความน้อยนิดแห่งชีวิตมนุษย์ (ในยุคที่มีอายุขัยหกหมื่นปี! !) ด้วยข้ออุปมา 7 อย่าง

มํสเปสี” เป็น 1 ในข้ออุปมาทั้ง 7 นั้น

หวังว่าเราท่านคงมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนอุปมาชีวิตเป็นบาลีวันละคำจนครบทั้ง 7 คำ

มํสเปสี” อ่านว่า มัง-สะ-เป-สี ประกอบด้วยคำว่า มํส + เปสี

(๑) “มํส

อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก

มํส” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

(๒) “เปสี

อ่านว่า เป-สี รากศัพท์มาจาก เปส (ธาตุ = เหยียดออก, ขยาย) + อี ปัจจัย

: เปสฺ + อี = เปสี (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ขยายออก” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ชิ้นเนื้อ

ศัพท์นี้ลง อิ ปัจจัย ได้รูปเป็น “เปสิ” ด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “เปสิ” “เปสี” ไว้ดังนี้ –

(1) ก้อน, โดยปกติ เนื้อที่เป็นก้อนขึ้นมา (a lump, usually a mass of flesh)

(2) เด็กอ่อนในครรภ์ในขั้นที่ 3 (ระหว่าง อพฺพุท และ ฆน) (the foetus in the third stage after conception [between abbuda & ghana])

(3) ชิ้น, เศษ (a piece, bit)

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (3)

มํส + เปสี = มํสเปสี (มัง-สะ-เป-สี) แปลว่า “ชิ้นแห่งเนื้อ” คือ ชิ้นเนื้อคนหรือเนื้อสัตว์ (a piece of flesh or meat) ในที่นี้หมายถึง ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงในกระทะเหล็กร้อน

อธิบายขยายความ :

ผู้รู้ท่านมองชีวิตว่าดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ลงในกระทะเหล็กร้อน พอเนื้อสัมผัสผิวกระทะก็จะสุกไหม้เกรียมไปทันที ดังสำนวนในพระสูตรบรรยายไว้ ดั่งนี้ –

…………..

เสยฺยถาปิ  พฺราหฺมณ  ทิวสสนฺตตฺเต  อโยกฏาเห  มํสเปสี  ปกฺขิตฺตา  ขิปฺปํเยว  ปฏิวิคจฺฉติ  น  จิรฏฺฐิติกา  โหติ  เอวเมว  โข  พฺราหฺมณ  มํสเปสูปมํ  มนุสฺสานํ  ชีวิตํ  ปริตฺตํ  ลหุกํ  พหุทุกฺขํ  พหูปายาสํ  มนฺตาย  โผฏฺฐพฺพํ  กตฺตพฺพํ  กุสลํ  จริตพฺพํ  พฺรหฺมจริยํ  นตฺถิ  ชาตสฺส  อมรณํ.

ดูก่อนพราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงในกระทะเหล็กที่ถูกไฟโหมร้อนตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับ (คือไหม้เกรียม) ไปเร็วพลัน ไม่เป็นเนื้อสดอยู่ได้นาน แม้ฉันใด

ดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายก็อุปมาเหมือนชิ้นเนื้อในกระทะเหล็กร้อนฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ชั่วเวลาน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชีวิตมนุษย์เหมือนเนื้อทอดเย็น

: เกิดมาทุกข์ทั้งเป็นยังไม่รู้สึกตัว

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

#บาลีวันละคำ (2,942)

2-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *