บาลีวันละคำ

คาวีวชฺฌา (บาลีวันละคำ 2,943)

คาวีวชฺฌา

เรียนบาลีวันละคำจากอุปมาชีวิต

…………..

ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่ง ชื่อ “อรกานุสาสนีสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71) พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย 60,000 ปี (หกหมื่นปี) มีครูสอนศาสนาท่านหนึ่งชื่อ “อรกะ” ประพฤติธรรมถึงระดับสิ้นกามราคะ

ครูอรกะสอนสาวกว่าด้วยเรื่องชีวิตว่า ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

ครูอรกะเปรียบความน้อยนิดแห่งชีวิตมนุษย์ (ในยุคที่มีอายุขัยหกหมื่นปี! !) ด้วยข้ออุปมา 7 อย่าง

คาวีวชฺฌา” เป็น 1 ในข้ออุปมาทั้ง 7 นั้น

หวังว่าเราท่านคงมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนอุปมาชีวิตเป็นบาลีวันละคำจนครบทั้ง 7 คำ

คาวีวชฺฌา” อ่านว่า คา-วี-วัด-ชา ประกอบด้วยคำว่า คาวี + วชฺฌา

(๑) “คาวี

อ่านว่า คา-วี รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น โค แล้วแปลง โอ เป็น อาว (คมฺ > โค > คาว) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คมฺ > โค > คาว + = คาว + อี = คาวี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เดินเรื่อยไป” หมายถึง แม่โค (A cow)

แม้ตามรูปศัพท์ “คาวี” จะแปลว่า “แม่โค” ซึ่งหมายถึง วัวตัวเมีย แต่โดยความมุ่งหมาย “คาวี” หมายถึง โคทั่วไป เว้นไว้แต่ในบริบทที่ระบุชัดๆ จึงจะหมายเอาเฉพาะแม่โคหรือวัวตัวเมียตรงตามรูปศัพท์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คาวี : (คำนาม) วัว, วัวตัวเมีย, เช่น คชสารโคคาวี. (กฎ. ราชบุรี). (ป.).”

(๒) “วชฺฌา

อ่านว่า วัด-ชา รากศัพท์มาจาก วธฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), แปลง ธฺย (คือ ธฺ ที่สุดธาตุกับ คือ ณฺย ปัจจัยที่ลบ ณฺ ออกแล้ว) เป็น ชฺฌ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วธฺ + ณฺย = วธณฺย > วธฺย > วชฺฌ (บางตำราว่าเป็น หนฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย แปลง หนฺ กับ ณฺย เป็น วชฺฌ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่พึงถูกฆ่า” หมายถึง สมควรฆ่าหรือประหารชีวิต; ผู้ที่จะต้องประหารชีวิต; สมควรจะตาย (to be killed, slaughtered or executed; object of execution; meriting death)

วชฺฌ” (วัด-ชะ) ใช้เป็นคุณศัพท์ ในที่นี้ขยายคำว่า “คาวี” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “วชฺฌา” (วัด-ชา)

เสริมความเข้าใจ :

คำคุณศัพท์ต้องมีลิงค์ วจนะ (พจน์) วิภัตติ เหมือนคำที่ตนขยาย “วชฺฌ” เป็นคุณศัพท์ สมมุติว่าขยายคำว่า “โจร” (โจ-ระ) ซึ่งเป็นปุงลิงค์ “โจร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โจโร” “วชฺฌ” ก็จะต้องเปลี่ยนรูปเป็น “วชฺโฌ” คือเป็น “โจโร วชฺโฌ

: โจโร วชฺโฌ (ไม่ใช่ โจโร วชฺฌา)

: คาวี วชฺฌา (ไม่ใช่ คาวี วชฺโฌ)

คาวี + วชฺฌา = คาวีวชฺฌา (คา-วี-ชัด-ชา) แปลว่า “แม่โคที่จะพึงถูกฆ่า” หมายถึง แม่โคที่เขากำลังนำไปโรงฆ่าสัตว์

ตามปกติ “วชฺฌา” (-ที่พึงถูกฆ่า) เป็นคำขยายของ “คาวี” (แม่โค) ถ้าเขียนแยกคำก็จะเป็น 2 คำ คือ “คาวี  วชฺฌา” หรือ “วชฺฌา  คาวี

แต่ในที่นี้ท่านสมาสกันเป็น “คาวีวชฺฌา” คำนี้จึงเป็นคำสมาสชนิดที่เรียกว่า “วิเสสนุตตรบท” (วิ-เส-สะ-นุด-ตะ-ระ-บด) คือคำขยายอยู่ท้ายศัพท์

ในทางหลักไวยากรณ์ “คาวีวชฺฌา” มีฐานะเป็นคำคุณศัพท์ คือขยายคำว่า “อุปมา” (อุ-ปะ-มา) และรวมเป็นเดียวกันเป็น “คาวีวชฺฌูปมา” (คา-วี-วัด-ชู-ปะ-มา) แปลว่า “ข้ออุปมาด้วยแม่โคที่จะพึงถูกฆ่า

และในที่นี้ “คาวีวชฺฌูปมา” ก็ใช้เป็นคำขยายอีกทอดหนึ่ง คือขยายคำว่า “ชีวิต” (ชี-วิ-ตะ) รูปคำเต็มเมื่อแจกวิภัตติจึงเป็น “คาวีวชฺฌูปมํ  ชีวิตํ” (คา-วี-วัด-ชู-ปะ-มัง ชี-วิ-ตัง) แปลว่า “ชีวิตมีอุปมาเหมือนแม่โคที่จะพึงถูกฆ่า” (ดูข้อความจริงข้างหน้า)

ในที่นี้ตัดมาเฉพาะ “คาวีวชฺฌา

อธิบายขยายความ :

ผู้รู้ท่านมองชีวิตว่าดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อยเหมือนโคที่ถูกเขานำไปฆ่า สถานที่ฆ่าโคอยู่ ณ ที่ใด โคที่ถูกเขาจูงไป ณ ที่นั้นก้าวเท้าไปก้าวหนึ่งก็ใกล้สถานที่ฆ่าเข้าไปก้าวหนึ่ง-ซึ่งหมายถึงใกล้ความตายเข้าไปก้าวหนึ่ง ยิ่งก้าวเท้าไปเท่าใด ก็ยิ่งใกล้ความตายเข้าไปเท่านั้น ดังสำนวนในพระสูตรบรรยายไว้ ดั่งนี้ –

…………..

เสยฺยถาปิ  พฺราหฺมณ  คาวี  วชฺฌา  อาฆาตนํ  นียมานา  ยญฺญเทว  ปาทํ  อุทฺธรติ  สนฺติเก  วธสฺส  สนฺติเก  มรณสฺส  เอวเมว  โข  พฺราหฺมณ  คาวีวชฺฌูปมํ  มนุสฺสานํ  ชีวิตํ  ปริตฺตํ  ลหุกํ  พหุทุกฺขํ  พหูปายาสํ  มนฺตาย  โผฏฺฐพฺพํ  กตฺตพฺพํ  กุสลํ  จริตพฺพํ  พฺรหฺมจริยํ  นตฺถิ  ชาตสฺส  อมรณํ.

ดูก่อนพราหมณ์ แม่โค (รวมทั้งโคทั่วไป) ที่เขากำลังนำไปโรงฆ่าสัตว์ก้าวเท้าเดินไปเท่าใด ก็ใกล้โรงฆ่า ใกล้ความตายเข้าไปเท่านั้น แม้ฉันใด

ดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายก็อุปมาเหมือนแม่โคที่จะถูกฆ่าฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ชั่วเวลาน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่อยากตาย

: อย่าเกิด

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

#บาลีวันละคำ (2,943)

3-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *