บาลีวันละคำ

นิสิต – นักศึกษา (บาลีวันละคำ 1,202)

นิสิตนักศึกษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) นิสิต : (คำนาม) ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; ศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ในสํานัก, ผู้อาศัย. (ป. นิสฺสิต).

(2) นักศึกษา : (คำนาม) ผู้มีความรู้สอบไล่ได้ไม่ตํ่ากว่ามัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า ซึ่งเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา.

(๑) “นิสิต” (นิ-สิด)

บาลีเป็น “นิสฺสิต” (นิด-สิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก นิ (เข้า, ลง) + สิ (ธาตุ = อยู่, อาศัย) + ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง นิ + สิ

: นิ + สฺ + สิ = นิสฺสิ + = นิสฺสิต แปลตามศัพท์ว่า “อยู่อาศัยแล้ว

เห็นคำอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจความหมายได้ชัดขึ้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิสฺสิต” เป็นอังกฤษว่า hanging on, dependent on, inhabiting; attached to, supported by, living by means of, relying on, being founded or rooted in, bent on (อาศัย, ขึ้นอยู่กับ-, อยู่ใน, ติดอยู่กับ-, ได้รับการค้ำจุน, มีความเป็นอยู่ด้วยการ-, พักพิงอยู่กับ-, ตั้งอยู่หรือมีรกรากอยู่กับ-, ตั้งหน้าที่จะ-)

นิสฺสิต” ในภาษาไทยตัด สฺ ตัวสะกดออก ใช้เป็น “นิสิต

(๒) “นักศึกษา

เป็นคำไทยผสมสันสกฤต : นัก-ไทย, ศึกษา-สันสกฤตแปลง

ศึกษา” บาลีเป็น “สิกฺขา” (สิก-ขา) รากศัพท์มาจาก สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิกฺขฺ + = สิกฺข + อา = สิกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา” หมายถึง การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย (study, training, discipline)

ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา

ศึกษา” ในความเข้าใจทั่วไป มักหมายความเพียงแค่ “เรียนวิชาความรู้

แต่ “สิกฺขา” ในภาษาบาลีหมายถึง การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจและฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์

สิกฺขา” เป็นหลักการสำคัญในพระพุทธศาสนา มี 3 อย่าง เรียกว่า “ไตรสิกขา” สำหรับบรรพชิต คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” สำหรับคฤหัสถ์ คือ “ทาน ศีล ภาวนา

นิสิต กับ นักศึกษา ในภาษาไทยความหมายต่างกันอย่างไร

นิสิต” ตามธรรมเนียมเดิม คือ ผู้ไปเล่าเรียนวิชาในสำนักไหนก็พักอาศัยอยู่กับอาจารย์ในสำนักนั้นเป็นเหมือนลูกหลานในครอบครัว (คำว่า “ลูกศิษย์” คงจะมีมูลมาจากธรรมเนียมนี้) ท่านจึงจำกัดความหมายของ “นิสิต” ว่า คือผู้ที่ศึกษาและพักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยในระหว่างศึกษา = นักเรียนประจำ

ส่วน “นักศึกษา” หมายถึง ผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยระหว่างศึกษา = นักเรียนไปกลับ

ปัจจุบันไม่ได้ถือตามนี้เสมอไป เพียงแต่มีหลักนิยมเฉพาะแห่ง เช่น ผู้ที่ศึกษาอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียก “นิสิต” ไม่เรียก “นักศึกษา” ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียก “นักศึกษา” ไม่เรียก “นิสิต” อย่างนี้เป็นต้น ทั้งนี้โดยไม่ได้ถือการพักหรือไม่ได้พักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นเกณฑ์แต่ประการใด

นิสิต-นักศึกษาทางธรรม >

: ถ้ายังไม่สิ้นตัณหา ก็ยังต้องเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต

: ถ้ากิเลสยังไม่สิ้นฤทธิ์ ก็ยังต้องเป็นนิสิตตลอดไป

13-9-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย