อุปการคุณ (บาลีวันละคำ 2,952)
อุปการคุณ
ไม่ใช่ “อุปการะคุณ”
อ่านว่า อุ-ปะ-กา-ระ-คุน
ประกอบด้วยคำว่า อุปการ + คุณ
(๑) “อุปการ”
บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + การ
(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :
“อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น”
“อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –
(1) ข้างบน, บน (on upon, up)
(2) ข้างนอก (out)
(3) สุดแต่ (up to)
(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)
(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)
(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)
(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)
(ข) “การ”
บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: กรฺ + ณ = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
“การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)
(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)
(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)
อุป + การ = อุปการ (อุ-ปะ-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” หมายถึง ความอุปการะ, การช่วยเหลือ, การอนุเคราะห์, การทำบุญคุณ, การสงเคราะห์ (service, help, benefit, obligation, favour)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปการ– ๑, อุปการะ : (คำนาม) ความช่วยเหลือเกื้อกูล, ความอุดหนุน, คู่กับ ปฏิการะ = การสนองคุณ, การตอบแทนคุณ. (คำกริยา) ช่วยเหลือเกื้อกูล, อุดหนุน. (ป., ส.).”
(๒) “คุณ
บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + อ ปัจจัย
: คุณฺ + อ = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” (2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” (3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม”
“คุณ” ในบาลีหมายถึง –
(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)
(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)
(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)
(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)
ตัวอย่างในข้อ (4) นี้ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ในภาษาไทย ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = –เท่า)
“-คูณ” คำนี้แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง
อุปการ + คุณ = อุปการคุณ แปลว่า “คุณคืออุปการะ” หมายถึง คุณงามความดี เช่น การอุดหนุนจุนเจือ การช่วยเหลือเกื้อกูล การส่งเสริมสนับสนุน การเอาใจใส่ดูแล การช่วยเป็นธุระด้วยประการต่างๆ เป็นต้น ที่คนหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่งกระทำให้แก่อีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นหน้าที่โดยตรงหรือมิใช่ก็ตาม
คำว่า “อุปการคุณ” มักมีผู้เขียนผิดเป็น “อุปการะคุณ” (มีสระ อะ หลัง ร)
“อุปการคุณ” เป็นคำที่สมาสกัน คือ อุปการ + คุณ กฎของคำสมาสในภาษาไทยคือ เสียง อะ กลางคำไม่ต้องมีสระ อะ (ภาษาวิชาการว่า ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ)
คำเทียบง่ายๆ เช่น
– “สาธารณสุข” ไม่ใช่ “สาธารณะสุข”
– “กาลเทศะ ไม่ใช่ “กาละเทศะ”
-“ธุรกิจ” ไม่ใช่ “ธุระกิจ”
– “วาทกรรม” ไม่ใช่ “วาทะกรรม”
และ “อุปการคุณ” ไม่ใช่ “อุปการะคุณ”
คำว่า “อุปการคุณ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าจำว่าเราทำอุปการคุณแก่ใคร
: แต่จงระลึกไว้ทุกลมหายใจว่าใครมีอุปการคุณต่อเรา
#บาลีวันละคำ (2,952)
12-7-63