บาลีวันละคำ

อุฑาฒิโม (บาลีวันละคำ 2,951)

อุฑาฒิโม

ฉายาพระ แปลว่าอะไร

มีญาติมิตรถามมาว่า ไปอ่านเจอคำว่า “อุฑาฒิโม” เป็นฉายาพระ อยากทราบว่าแปลว่าอะไร

เมื่อตรวจสอบดู พบว่า พระที่มีฉายาว่า “อุฑาฒิโม” รูปหนึ่ง (ไม่ทราบว่าจะมีรูปอื่นอีกหรือไม่) คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

จึงได้เค้าว่า คำว่า “อุฑาฒิโม” คงจะแปลงไปจากชื่อ “ทิม” นี่เอง ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินแว่วๆ ว่า เดิมท่านชื่อ “ทับทิม” (ไม่ยืนยันว่าได้ยินมาจากไหน) ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แคบเข้า คือลองตรวจหาดูว่า คำว่า “ทับทิม” คือผลไม้ชนิดหนึ่งนั้นคำบาลีว่าอย่างไร

เนื่องจากผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีพจนานุกรมไทย-บาลีที่พอจะอาศัยสืบหาดูได้ แต่พอจะมีแหล่งสืบค้นพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี จึงต้องใช้วิธี “ยิงกระสุนวิถีโค้ง” ด้วยการแปลคำว่า “ทับทิม” เป็นภาษาอังกฤษก่อน

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “ทับทิม” เป็นอังกฤษว่า the pomegranate tree

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล pomegranate เป็นบาลีว่า:

dāḷimaphala ทาฬิมผล (ทา-ลิ-มะ-ผะ-ละ)

จากนั้นตรวจหาศัพท์ว่า “ทาฬิม” หรือ “ทาลิม” ในพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง พบว่าในคาถาที่ 570 มีศัพท์ที่เป็นชื่อ “ทับทิม” 2 ศัพท์ คือ “กรโก” และ “ทาลิโม”

เป็นอันว่า “ทาลิม” หรือ “ทาลิโม” ใกล้เคียงกับ “อุฑาฒิโม” มากที่สุด

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีศัพท์ว่า “ทาฬิม” และ “ทาลิม” แสดงรากศัพท์ว่ามาจาก ทลฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ม ปัจจัย, ลง อิ อาคมที่สุดธาตุหรือลง อิ อาคมหน้าปัจจัย (ทลฺ + อิ + ม) ทีฆะ อะ ที่ ท-(ลฺ) เป็น อา (ทลฺ > ทาล), แปลง ล เป็น ฬ

: ทลฺ + อิ + ม = ทลิม > ทาลิม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ทำลาย

ที่เป็น “ทาฬิม” ก็คือ แปลง ล เป็น ฬ

แล้ว “ทาฬิม” หรือ “ทาลิม” เป็น “อุฑาฒิโม” ได้อย่างไร?

ในบาลีไม่มี “ฑาฒิม” ดังนั้นจึงต้องลองเทียบกับสันสกฤต ปรากฏว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ฑาลิม” และ “ฑาฑิม” บอกไว้ดังนี้ –

ฑาลิม, ฑาฑิม : (คำนาม) ผลทับทิม; a pomegranate.”

ได้ความว่า “ทาลิม” หรือ “ทาฬิม” นั่นเองสะกดตามสันสกฤตเป็น “ฑาฑิม” หรือจะว่าศัพท์นี้สะกดได้ทั้ง “ทาลิม” “ทาฬิม” และ “ฑาฑิม” ดังนี้ก็คงว่าได้

ส่วน “อุ” ข้างหน้านั้นไม่มีปัญหา เป็นคำอุปสรรคที่เรารู้กันอยู่ ในที่นี้อาจขยายความว่า อุ มาจาก “อุตฺตม” (อุด-ตะ-มะ) แปลว่า สูงสุด หรือสุดยอด

: อุตฺตโม + ฑาฒิโม = อุฑาฒิโม แปลว่า “ทับทิมที่สุดยอด” แปลให้เข้ากับฉายาก็ว่า “ทิมผู้สุดยอด” ดังนี้

ที่ว่ามานี้เป็นมติของผู้เขียนบาลีวันละคำ ผิดถูกประการใดขอฝากผู้รู้ได้โปรดพิจารณาด้วยเทอญ

แถม :

ประวัติสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) คัดลอกจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 11 กรกฎาคม 2563 เวลา 20:30 น.) โดยไม่ตัดต่อ

…………..

กำเนิด

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า ทิม พันทา (ภายหลังเปลี่ยนเป็นพันธุเลปนะ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2447 เป็นบุตรคนที่ 7 ของนายอ่อนตากับนางเทศ พันทา (ซึ่งมีบุตรรวมทั้งสิ้น 9 คน) ภูมิลำเนาอยู่บ้านดอนสะแก ตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

อุปสมบท

พ.ศ. 2462 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชประดิษฐฯ แล้วศึกษาอยู่ที่วัดนี้ต่อจนถึงปี พ.ศ. 2467 จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมรโมลี (อาบ อุปคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษา

เมื่อยังเป็นสามเณร ท่านสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปี พ.ศ. 2465 และสอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาภาษาบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคในปี พ.ศ. 2468 ต่อมาสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2472 และสุดท้ายสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในปี พ.ศ. 2480

นอกจากนี้ท่านยังศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาสันสกฤตที่มหามกุฏราชวิทยาลัย และศึกษาโหราศาสตร์จนแตกฉาน

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. 2489 ตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธาธรรมรส

พ.ศ. 249? เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม

5 ธันวาคม พ.ศ. 2501 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธากร สุนทรธรรมวรยุต พุทธบริษัทปสาทการี ตรีปิฎกธรรมวิภูษิต ศาสนกิจธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

5 ธันวาคม พ.ศ. 2509 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 สถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมปัญญาจารย์ ปริยัติญาณโสภณ วิมลศีลาจารวัตร พุทธปริษัทปสาทกร สุนทรธรรมวินยวาที ตรีปิฎกวิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต พุทธกิจโจปการวัฒนานุการี คัมภีรญาโณภาสราชโหราธิบดี ศรีธรรมวิสุทธอุปกาสวรางกูร ไพบูลปาพจนวราลงกรณ์ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

มรณภาพ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2543 เวลา 14.30 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาอเนกประสงค์ 90 ปี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชประดิษฐฯ ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองประกอบศพ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 7 คืน

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล ไปในการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

…………..

: บางคนเกิดมาแล้วและยังมีชีวิตอยู่แท้ๆ คนก็ไม่รู้

: บางคนเกิดมาแล้วและตายไปตั้งพันปี คนก็ไม่ลืม

ดูก่อนภราดา!

: ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดมาแล้ว

: ท่านจะเป็นคนที่คนไม่รู้ หรือเป็นคนที่คนไม่ลืม?

#บาลีวันละคำ (2,951)

11-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *